ที่มาภาพ https://ipricethailand.com |
เมื่อพูดถึงเดือนที่มีอากาศร้อนที่สุดเดือนหนึ่ง อย่างเดือนเมษายนแล้ว สิ่งที่คนทั่วไปมักจะนึกถึงก็คือเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเป็นเทศกาลที่มีกิจกรรมเล่นน้ำคลายร้อนกันอย่างสนุกสนาน และยัังเป็นเทศกาลที่มีกิจกรรมส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัวอย่างการรดน้ำดำหัวผู้อาวุโส ทำให้คนในครอบครัวได้มารวมตัวและพบปะสังสรรค์กัน จึงเรียกได้ว่าเทศกาลสงกรานต์มีความสำคัญต่อคนไทยเป็นอย่างมาก แต่ยังมีบางสิ่งที่หลายคนยังไม่รู้เกี่ยวกับเทศกาลนี้ว่า แท้จริงแล้วสงกรานต์ไม่ใช่เทศกาลของไทย ไม่ใช่ปีใหม่ไทย แล้วสงกรานต์คืออะไร มีที่มาอย่างไร สามารถติดตามด้านล่างได้เลยครับ
โดย คุณาสิน ลุนพุฒ
เทศกาลสงกรานต์คืออะไร เทศกาลของไทยหรือประเพณีร่วม?
เทศกาลสงกรานต์ เป็นการขึ้นปีใหม่ในความเชื่อของไทย เทศกาลสงกรานต์เป็นประเพณีที่สืบทอดมาแต่โบราณคู่กับตรุษ จึงนิยมเรียกอีกชื่อว่า ประเพณีตรุษสงกรานต์ หมายถึง การส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ โดยกำหนดวันแรกของเทศกาลเป็นวันที่พระอาทิตย์ย้ายออกจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ เรียกว่า วันมหาสงกรานต์ วันถัดมาเรียกว่าวันเนา (ภาษาเขมร แปลว่า อยู่) และวันสุดท้ายเป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชและเริ่มใช้กาลโยคประจำปีใหม่ เรียกว่า วันเถลิงศก ปัจจุบันประเทศไทยได้กำหนดวันตามปฏิทินที่แน่นอน คือ วันที่ 13-15 เมษายนของทุกปีและกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการ ซึ่งเทศกาลนี้เป็นประเพณีร่วมเพราะไม่เพียงแต่ปรากฎในไทย แต่ยังมีปรากฎในลาว กัมพูชา พม่า และชนกลุ่มน้อยชาวไทแถบเวียดนามและมณฑลยูนนานของจีน ศรีลังกา และทางตะวันออกของประเทศอินเดีย
เทศกาลโฮลี ที่มาภาพ http://www.manager.co.th |
สงกรานต์คือปีใหม่ไทย จริงหรือ?
สงกรานต์ไม่ใช่ปีใหม่ของไทยแต่รับอิทธิพลมาจากอินเดีย มีข้อสันนิษฐานว่า สงกรานต์เป็นเทศกาลที่ได้รับอิทธิพลมาจากเทศกาลโฮลีของอินเดีย ซึ่งเทศกาลโฮลีจะใช้การสาดสีแทนการสาดน้ำ ซึ่ง สุจิตต์ วงษ์เทศ (อ้างถึงใน วจนา วรรลยางกูร 2559) แย้งว่า เทศกาลสงกรานต์และเทศกาลโฮลี ไม่ใช่ประเพณีเดียวกันและวัตถุประสงค์ในการจัดคนละความหมายกัน และกล่าวเพิ่มเติมว่า สงกรานต์ เป็นศัพท์บาลีสันสกฤต หมายถึงการเคลื่อนย้ายจากราศีหนึ่งไปอีกราศีหนึ่งโดยนับตามสุริยคติ อินเดียมีสงกรานต์ทุกเดือน เฉพาะราศีมีนไปราศีเมษ เรียกว่า มหาสงกรานต์ ซึ่งเรียกอีกอย่างว่า ปีใหม่แขก ซึ่งไม่ใช่ปีใหม่ไทยเพราะคนไทยและอุษาคเนย์นับตามจันทรคติ มีปีนักษัตร ที่รับมาจากเปอร์เซียผ่านทางจีน และปีนักษัตรจะเปลี่ยนในช่วงเดือนอ้ายซึ่งหมายถึงปีใหม่ตามแบบจันทรคตินั่นเอง
ที่มาภาพ http://www.sevendaynew.com |
โดยประเพณีสงกรานต์ในไทย มีประวัติความเป็นมาดังนี้ สงกรานต์เข้ามาสู่เอเชียอาคเนย์ตั้งแต่สมัยทวารวดี ซึ่งรับเอาสงกรานต์หรือปีใหม่แขกเข้ามาในราชสำนัก โดยในสมัยนั้นสงกรานต์ไม่ได้อยู่ในการรับรู้ของประชาชน จากนั้นประเพณีดังกล่าวได้ตกทอดสู่อาณาจักรยุคหลัง ตั้งแต่สุโขทัย อยุธยา เรื่อยมาจนถึงรัตนโกสินทร์ ความเข้าใจผิดว่าสงกรานต์เป็นปีใหม่ของไทยเริ่มต้นจาก ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้กำหนดวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 เมษายน (พ.ศ.2432-2483) ต่อมาในสมัยนายกจอมพลป.พิบูลสงคราม ได้ปรับเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ให้เป็นแบบสากล คือ วันที่ 1 มกราคมของทุกปี โดยเริ่มใช้ในปี 2484 เป็นปีแรก ส่วนวันที่ 1 เมษายน กลายเป็นวันสงกรานต์ไทยแทน ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า สงกรานต์คือปีใหม่ไทย โดยลืมว่าปีนักษัตรเปลี่ยนตั้งแต่เดือนอ้ายแล้ว ส่วนกิจกรรมการสาดน้ำในวันสงกรานต์สันนิษฐานว่ารับมาจากพม่า โดยอ้างจากการปรากฎภาพการสาดน้ำระหว่างชาวพม่าและทหารของเจ้าอาณานิคม ซึ่งเป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่างกันนั่นเอง
ที่มาภาพ https://www.esanbiz.com |
จากข้อมูลข้างต้นทำให้สามารถสรุปได้ว่าเทศกาลสงกรานต์เป็นประเพณีร่วมที่ไม่ได้ปรากฎเฉพาะในประเทศไทย และไม่ใช่ปีใหม่ของไทย แต่เพราะความคลาดเคลื่อนของความหมายซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคสมัยทำให้ความเข้าใจของผู้คนต่อเทศกาลนี้ผิดแผกไป ข้าพเจ้าหวังว่าบทความนี้จะช่วยทำให้ผู้อ่านมีความเข้าใจต่อเทศกาลสงกรานต์เพิ่มมากขึ้นเพื่อลดอคติและสร้างความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านผ่านเทศกาลนี้ พร้อมทั้งเลิกให้ความสำคัญว่าเป็นประเพณีของชาติแต่มองใหม่ว่าเป็นประเพณีร่วม และเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ในไทย กระผมขออวยพรให้ทุกท่านมีความสุขกับครอบครัว ร่วมกิจกรรมเล่นน้ำสงกรานต์อย่างสุภาพและสนุกสนาน ขับขี่ปลอดภัยและอย่าลืมดื่มไม่ขับ เดี๋ยวได้หลับไม่ตื่นนะครับ
และสุดท้ายนี้เป็นภาพบรรยากาศเทศกาลสงกรานต์จากที่ต่างๆ
เทศกาลสงกรานต์ในสิบสองปันนา ที่มาภาพ http://www.manager.co.th |
เทศกาลสงกรานต์ในกัมพูชา ที่มาภาพ http://www.manager.co.th |
เทศกาลสงกรานต์ในลาว ที่มาภาพ http://www.manager.co.th |
อ้างอิง
MGR Online. 2557. สงกรานต์ต่างแดน ประเพณีสาดน้ำไม่ได้มีแค่ที่ไทยอย่างเดียว. สืบค้นเมื่อ 12 เมษายน 2561, จาก http://www.manager.co.th
วจนา วรรลยากูร. 2559. สงกรานต์ไม่ใช่ปีใหม่ไทย สาดน้ำไม่ได้มาจากอินเดีย. สืบค้นเมื่อ 12 เมษายน 2561, จาก https://www.matichon.co.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น