วันจันทร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2562

เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ที่วัดมหาธาตุ พุทธศิลป์อันโดดเด่นแห่งอาณาจักรสุโขทัย

สุโขทัย เป็นจังหวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน และถือเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจหลายแห่งและหนึ่งในนั้นคือ "วัดมหาธาตุ" ซึ่งเป็นวัดที่มีความสำคัญต่ออาณาจักรสุโขทัยมาแต่อดีต โดยความน่าสนใจของวัดแห่งนี้ คือ เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ที่มีความงดงามและถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของศิลปะสมัยสุโขทัย

เรียบเรียงโดย บุตรมณี  บุญผล

การเรียนรู้นอกสถานที่ วัดมหาธาตุ ภายในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย เมื่อว้นที่ 23 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นส่วนหนึ่งในรายวิชา 428 333 แหล่งท่องเที่ยวตามประวัติศาสตร์ไทย (Historical Sites in Thai History) ทางหลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดขึ้นสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 3 เอกประวัติศาสตร์เพื่อการท่องเที่ยว  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ให้นักศึกษาได้เรียนรู้เกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวตามยุคสมัยประวัติศาสตร์นอกสถานที่ ถือได้ว่าเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ผ่านการฝึกเป็นมัคคุเทศก์ และฝึกใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการท่องเที่ยว


การเดินทางไปยังจังหวัดสุโขทัยครั้งนี้ เพื่อที่จะศึกษาวัฒนธรรมสุโขทัยและเยี่ยมชมโบราณสถานสมัยสุโขทัยที่ยังหลงเหลืออยู่ ทั้งภายในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เช่น วัดมหาธาตุ วัดศรีสวาย วัดตระพังเงิน เป็นต้น และโบราณสถานนอกกำแพงเมือง ไม่ว่าจะเป็น วัดพระพายหลวง วัดศรีชุม วัดช้างรอบ เป็นต้น โดยสถานที่เหล่านี้ล้วนมีสำคัญมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยสถานที่ที่เรากำลังจะพูดถึงต่อไปนี้ คือ วัดมหาธาตุ นั่นเอง 

วัดมหาธาตุ เป็นวัดหนึ่งที่อยู่ในเขตเมืองสุโขทัยมาตั้งแต่โบราณ สร้างขึ้นในสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์และถือเป็นวัดที่มีความสำคัญที่สุดในอาณาจักรสุโขทัย วัดมหาธาตุตั้งอยู่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อยู่ตรงข้ามกับเนินปราสาท ซึ่งเป็นบริเวณพระราชวังเดิม

วัดแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นวัดใหญ่ใจกลางเมืองสุโขทัย ซึ่งมีสิ่งก่อสร้างจำนวนมากที่สร้างต่อเติมมาหลายสมัย  ได้แก่ เจดีย์ประธานทรงพุ่มข้าวบิณฑ์หรือทรงยอดดอกบัวตูม  วิหารที่มีมากถึง 10 แห่ง  ซุ้มพระ (มณฑป) 8 ซุ้ม  พระอุโบสถ 1 แห่ง ตระพัง 4 แห่ง และเจดีย์รายจำนวนมากถึง 200 องค์

เมื่อเราเดินเข้ามาภายในวัดนั้นจะเห็นว่าพื้นที่ภายในดูกว้างขวาง บริเวณด้านหน้าของวัดเราจะสามารถมองเห็นพระประธานบนวิหารสูงและลึกเข้าไปคือเจดีย์ประธานของวัดได้อย่างชัดเจน ก่อนถึงเจดีย์ประธาน เราจะผ่านเสาต้นใหญ่หลายต้นที่ก่อด้วยศิลาแลงเรียงตัวกันเป็นแถว ซึ่งเสาเหล่านี้คือ เสาของวิหารที่หลงเหลืออยู่ หากจินตนาการตามขนาดของเสาแล้วพระวิหารคงจะมีขนาดที่ใหญ่พอสมควร ซึ่งสะท้อนถึงความรุ่งเรืองแห่งอาณาจักรสุโขทัยในอดีตนั้นเอง

เป้าหมายสำคัญของเราคือ เจดีย์ปทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์สำคัญของสุโขทัยที่ไม่พบในสมัยอื่น ดังนั้นก่อนจะไปเยี่ยมชมอาคารสิ่งก่อสร้างอื่นๆ เราขอเริ่มต้นที่เจดีย์ประธาน ศูนย์กลางของวัดกันก่อน


เจดีย์ประธานวัดมหาธาตุ
        
สำหรับเจดีย์ประธานวัดมหาธาตุที่ตั้งเด่นตระหง่านมองเห็นแต่ไกลนั้นมีลักษณะเป็น เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือ ทรงดอกบัวตูม เป็นเจดีย์ที่มีรูปแบบเฉพาะตัวของศิลปะสมัยสุโขทัยโดยแท้ ถือเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของรูปแบบสถาปัตยกรรมสุโขทัยเลยก็ว่าได้ ปรากฏพบบริเวณเมืองเก่าสุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร และบริเวณหัวเมืองโดยรอบสุโขทัย เช่น พิษณุโลก ตาก เพชรบูรณ์ น่าน ชัยนาท และพบไกลถึงเชียงใหม่





ปูนปั้นรูปพระสาวกในท่าอัญชลี

โดยรูปแบบเจดีย์นี้สร้างขึ้นภายหลังจากที่สร้างวัดมหาธาตุ ของเดิมอาจมีลักษณะเช่นเดียวกับ เจดีย์ทิศ ที่ตั้งอยู่บนฐานเดียวกันกับเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ และตั้งอยู่ตรงกลางของด้านทั้งสี่ ที่รายรอบเจดีย์ประธาน เป็นเจดีย์ทิศจำนวน 8 องค์ โดยองค์ที่อยู่ตรงมุมทั้งสี่นั้นอาจได้รับอิทธิพลจากศิลปะหริภุญไชย หรือล้านนา เป็นเจดีย์ทรงปราสาท 5 ยอด ส่วนเจดีย์ที่อยู่กึ่งกลางของทั้งสี่ด้านเป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอดที่มีรูปแบบคล้ายคลึงกับปราสาทขอม ที่มีลักษณะเป็นเรือนธาตุสี่เหลี่ยมจัตุรัส โดยแต่ละทิศจะมีลวดลายที่แตกต่างกันออกไป เจดีย์ทั้งหมด 9 องค์ รวมเจดีย์ประธานด้วย ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน รอบๆ ฐานมีภาพปูนปั้นรูปพระสาวกในท่าอัญชลี เดินประทักษิณรอบพระมหาธาตุ จำนวน 168 รูป  

ลักษณะเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์มีรูปลักษณ์ที่แตกต่างจากเจดีย์ที่พบเห็นในยุคสมัยต่างๆ โดยมีองค์ประกอบดังนี้

เจดีย์ประธานทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ล้อมรอบด้วย เจดีย์ทรงปราสาทยอดอยู่บริเวณมุมทั้งสี่ทิศ และเจดีย์ทรงปราสาทแบบเขมรอยู่ประจำทั้งสี่ด้าน ทั้งหมดตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน

องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์

ฐานส่วนล่าง องค์ประกอบของฐานส่วนล่างประกอบไปด้วยฐานเขียง ซ้อนกันสามชั้นโดยมีแนวบันไดทางขึ้นทางด้านทิศตะวันออก บันไดทางขึ้นมีแนวบันไดทั้งทางซ้ายและขวา ถัดจากฐานเขียงสามชั้นขึ้นไปมีฐานบัวคว่ำบัวหงายโดยมีลูกแก้วอกไก่อยู่สองขั้น บริเวณท้องไม้ด้านบนและล่าง

ส่วนเรือนธาตุ ประกอบไปด้วยฐานแว่นฟ้าสองชั้น ย่อมุมไม้ยี่สิบ โดยฐานแว่นฟ้าประกอบไปด้วยฐานบัวลูกฟัก ย่อมุมไม้ยี่สิบซ้อนกันสองชั้นคล้ายพานแว่นฟ้า ถัดจากส่วนฐานแว่นฟ้าขึ้นไปเป็นส่วนเรือนธาตุ เป็นแท่งสูงย่อมุมไม้ยี่สิบเช่นเดียวกับฐานแว่นฟ้า

ส่วนยอด ส่วนที่อยู่เหนือเรือนธาตุ มีลักษณะคล้ายพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือทรงดอกบัวตูม โดยมีกลีบดอกบัวรองรับอยู่โดยรอบ มีซุ้มทิศเล็กๆ ประจำสี่ทิศอาจใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป แต่ไม่พบในปัจจุบัน ส่วนยอดมีลักษณะคล้ายบัวลูกแก้วซ้อนกันขึ้นไป คล้ายปล้องไฉนในเจดีย์ทรงระฆัง ถัดขึ้นไปมีลักษณะคล้ายกับปลียอด ซึ่งพบในเจดีย์ทรงระฆังกลมเช่นเดียวกัน

ถึงแม้ว่าส่วนเรือนธาตุและส่วนยอดของเจดีย์จะมีขนาดเล็ก แต่ก็ถูกยกให้สูงตระหง่านด้วยฐานสูงหลายชั้น และด้วยรูปลักษณ์ที่ไม่เหมือนเจดีย์ทรงต่างๆ ที่เป็นอิทธิพลจากที่อื่นๆ เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ จึงอาจสร้างขึ้นเพื่อแสดงถึงตัวตนในแบบของตนเอง ที่มีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของสุโขทัยอย่างแท้จริง

นอกจากเจดีย์ประธานที่กล่าวมาแล้ว ภายในวัดมหาธาตุยังมีเจดีย์ วิหาร และสิ่งก่อสร้างอื่นๆ อีกจำนวนมาก ได้แก่



วิหารวัดมหาธาตุ

วิหารภายในวัดมหาธาตุ ที่มีลักษณะเด่นและสำคัญมี 2 แห่ง ด้วยกันโดยสร้างต่อเนื่องกันออกไปทางทิศตะวันออกต่อจากเจดีย์ประธาน เรียกว่า วิหารหลวง และ วิหารสูง


วิหารหลวง เมื่อพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์แพร่หลายเข้ามาในสุโขทัย วิหารได้รับความนิยมอย่างมาก โดยนิยมสร้างวิหารไว้ทางด้านหน้าของเจดีย์ประธาน ที่มีขนาดกว้างขวาง เพื่อใช้สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปประธานของวัด ซึ่งวิหารภายในวัดนั้นคู่กับเจดีย์ประธานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุโดยตำแหน่งที่ตั้งของวิหารหลวงจะวางอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเจดีย์ประธานวัดมหาธาตุนั้นเอง
" ในศิลาจารึกหลักที่ 1 ได้บรรยายว่า...กลางเมืองสุโขทัยนี้มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฎฐารศ มีพระพุทธอันใหญ่ มีพระพุทธอันราม... "
วิหารหลวงนี้มีขนาดใหญ่ ก่อด้วยศิลาแลง มีแท่นซึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีชื่อว่า "พระศรีศากยมุนี" ซึ่งสันนิษฐานว่าหล่อขึ้นในสมัยพระยาลิไท เมื่อ พ.ศ. 1905 เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย อันเป็นแบบที่นิยมมากในสมัยสุโขทัย ปัจจุบันได้รับการเคลื่อนย้ายไปอยู่ที่วัดสุทัศน์เทพวราราม กรุงเทพมหานคร

การกล่าวถึงพระพุทธรูปทองในศิลาจารึกหลักที่ 1  อาจหมายถึงพระศรีศากยมุนี หรือ หลวงพ่อโต ของชาวเมืองเก่าเมื่อต้นรัตนโกสินทร์ ที่ประดิษฐานอยู่ที่วิหารหลวงในวัดมหาธาตุ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญโดยล่องแพไปไว้ที่ วิหารหลวงวัดสุทัศน์เทพวราราม กรุงเทพมหานคร และต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้พระราชทานนามว่า พระศรีศากยมุนี ที่วิหารหลวงในวัดมหาธาตุสุโขทัยจึงยังปรากฏแท่นฐานขนาดใหญ่ของพระพุทธรูปองค์นี้หลงเหลือให้เห็นกันในปัจจุบัน

สำหรับด้านทิศเหนือ และทิศด้านใต้ของเจดีย์มหาธาตุนั้น ประดิษฐานพุทธะรูปประทับยืนภายในซุ้มพระ เรียกว่า "พระอัฎฐารศ" นักวิชาการบางท่านให้ความหมายว่า อัฎฐา หมายถึง แปด เช่น เครื่องอัฏฐบริขารของพระภิกษุสงฆ์ 8 อย่าง รวมกับคำว่า 'รศ' ซึ่งเข้าใจว่าเพี้ยนมาจากคำว่า 'ทศ' แปลว่า สิบ รวมความแล้วอาจหมายถึง พระยืนสูงถึงสิบแปดศอก และที่วัดมหาธาตุนั้นก็มีความสูงราว 18 ศอก หรือ 9 เมตร ประดิษฐานภายในมณฑป ที่ขนาดอยู่สองด้านของเจดีย์ประธานทรงพุ่มข้าวบิณฑ์




วิหารสูง
วิหารสูง ตั้งอยู่ถัดจากวิหารหลวง ที่เรียกชื่อเช่นนี้เนื่องจากวิหารหลังนี้มีฐานก่ออิฐเป็นลักษณะฐานบัว มีความสูงประมาณ 1.5 เมตร เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา ซึ่งถูกสร้างขึ้นในภายหลัง ทำให้พื้นที่ว่างระหว่างหน้าวิหารสูงกับกำแพงแก้วด้านหน้าเหลือเพียงพื้นที่แคบๆ ไม่ได้สัดส่วนกับความสูงของตัวอาคาร

นอกจากนี้ภายในวัดมหาธาตุยังมีกลุ่มเจดีย์จัดแยกออกเป็นกลุ่มหนึ่ง อยู่ทางทิศใต้ของเจดีย์พระธาตุ มีศูนย์กลางอยู่ที่เจดีย์ 5 ยอด ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นที่สองรองจากเจดีย์พระธาตุ และพบว่าบริเวณวัดมหาธาตุมีเจดีย์มากถึง 200 องค์ ซึ่งแต่ละองค์ก็จะมีลักษณะแตกต่างกันออกไป

นอกจากนี้บริเวณด้านนอกวัดยังมีบ่อน้ำขนาดใหญ่ อยู่หลายบ่อซึ่งในอดีตเป็นที่กักเก็บน้ำเพื่อเอาไว้ใช้ภายในอาณาจักรที่สะท้อนเห็นพระวิหารหลวงพระพุทธรูปและเจดีย์ประธานของวัดผ่านผืนน้ำให้ความสวยงามอีกรูปแบบหนึ่ง หากท่านเดินชมรอบๆ วัดในยามเย็นอยากให้ทุกท่านอยู่รอสัมผัสภาพแสงของพระอาทิตย์ ที่กำลังตกด้านหลังวัดมหาธาตุ ซึ่งเป็นภาพที่สวยงามและเหมาะกับสถานที่อันล้ำค่าแห่งนี้ที่นักท่องเที่ยวหลายต่อหลายคนรอชมก่อนเดินทางกลับนั่นเอง

ด้วยความงดงามทางสถาปัตยกรรมอย่าง เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของศิลปะสมัยสุโขทัยแล้วนั้น ยังมีเจดีย์ที่ตั้งเรียงรายในบริเวณวัดที่มีจำนวนมากถึง 200 องค์ นอกจากนี้ยังเคยเป็นที่ประดิษฐาน พระศรีศากยมุนี พระพุทธรูปสำริดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย รวมทั้งยังมีเรื่องราวและประวัติที่น่าสนใจของวัดแห่งนี้ที่มาพร้อมกับความงามทางธรรมชาติโดยรอบ จึงทำให้ วัดมหาธาตุ แห่งนี้มีความน่าสนใจและเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญต่อชาวสุโขทัยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และถือเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ไทยแห่งหนึ่งที่สะท้อนเรื่องราวมากมายให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้กันต่อไป


ที่อยู่และเบอร์ติดต่อ

ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย 64210
โทรศัพท์ : 055-697 527, 055-697 241


วันและเวลาทำการ

  • อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย  (เปิดให้เข้าชมทุกวัน)
     - วันจันทร์ – วันศุกร์ และวันอาทิตย์  เวลา 06.30-19.30 น.
     - วันเสาร์  เวลา 06.30-21.00 น. (มีการเปิดไฟส่องโบราณสถาน)
     - เขตอรัญญิก  เวลา 08.00-16.30 น. ทุกวัน
     - วัดศรีชุมและพระพายหลวง  เวลา 07.30-17.30 น.  ทุกวัน

  • สำนักงานอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย  เปิดทำการทุกวัน 08.30-16.30 น

การเดินทาง
  • รถยนต์ จากกรุงเทพฯ สามารถเดินทางได้ 2 เส้นทางคือ
-ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 ผ่านจังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร ผ่านอำเภอพรานกระต่าย อำเภอคีรีมาศเข้าสู่จังหวัดสุโขทัย รวมระยะทาง 440 กิโลเมตร
-ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 ผ่านอำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นครสวรรค์ พิษณุโลก เข้าสู่จังหวัดสุโขทัย รวมระยะทาง 427 กิโลเมตร
  • รถไฟ มีขบวนรถด่วนและรถเร็วออกจากสถานีรถไฟหัวลำโพง ไปลงที่สถานีพิษณุโลก ทุกวันจากนั้นต่อโดยรถประจำทางไปสุโขทัย อีกประมาณ 59 กิโลเมตร
  • โดยสารประจำทาง มีรถโดยสารทั้งแบบธรรมดา และปรับอากาศ ออกจากสถานีขนส่ง หมอชิต ถนนกำแพงเพชร 2 ทุกวัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 7 ชั่วโมง
  • เครื่องบิน มีเที่ยวบินจากกรุงเทพฯ ไปลงที่จังหวัดพิษณุโลก ทุกวัน จากนั้นต่อโดยรถประจำทางไปสุโขทัยอีกประมาณ 118 กิโลเมตร



อ้างอิง

มิวเซียมไทยแลนด์. (2562). อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย. สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2562, จาก http://www.museumthailand.com/th/museum/Sukhothai-Historical-Park 

อุ่นใจทัวร์. (2559). วัดมหาธาตุ. สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2562, จาก http://www.thaimaptravel.com/articles-inner/location-tour/239.html

www.Palanla.com. (2562). วัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย ประเทศไทย. สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2562, จาก http://palanla.com/index.php?op=domesticLocation-detail&id=173


เจดีย์ประธานทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ล้อมรอบด้วยเจดีย์รายแปดทิศ
พระอัฎฐารศ


บริเวณหน้าวัดมหาธาตุ
วิหารสูง









ผังวัดมหาธาตุ







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น