วันอังคารที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2561

วายัง การแสดงเชิดหุ่นเงาของอินโดนีเซีย

ที่มา: https://pearmaiffblog.wordpress.com
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นประเทศที่มีความหลากหลายในด้านอารยธรรมต่างๆ ไม่ว่าการกิน การแต่งกาย และยังรวมไปถึงศิลปะการแสดง ที่แตกต่างกันออกไป ตามวิถีชีวิต และประเพณีที่สืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น  ถ้าจะพูดถึงศิลปะการแสดงที่มีชื่อเสียง และเป็นเอกลักษณ์แล้ว "วายัง" ก็นับได้ว่าเป็นการแสดงอย่างหนึ่งที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ประจำประเทศอินโดนีเซีย

เรียบเรียงโดย อัครเดช โคตนายูง 

ที่มา: https://www.indoindians.com
“วายัง” เป็นชื่อเรียกการแสดงการเชิดหุ่นที่ทำจากหนังบนจอผ้า และมีลักษณะเหมือนหุ่นเงา  โดยการแสดงนี้ถือกำเนิดขึ้นที่เกาะชวา  ส่วนคำว่า “วายัง” นี้ก็เป็นภาษาชวาเช่นเดียวกัน สำหรับความเป็นมาของการแสดงวายังนี้ ไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่า มีที่มาอย่างไร แต่นักวิชาการต่างๆได้แสดงความเห็นที่แตกต่างกันออกไป เกี่ยวกับต้นกำเนิดของการแสดงวายังจำแนกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้





กลุ่มที่ 1  มีความเห็นว่า  การแสดงนี้ มีต้นกำเนิดอยู่ที่เกาะชวามาตั้งแต่โบราณ เพราะคนชวามักจะนิยมบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และบูชาบรรพบุรุษนั่นเอง หลักฐานที่ใช้ในการสนับสนุนเหตุผลข้อนี้ มีหลายประการ เช่น ภาษาและคำศัพท์เฉพาะที่ใช้ในการแสดง  รวมไปถึงวัฒนธรรมการชมการแสดงวายังที่มีให้เห็นอยู่จนถึงทุกวันนี้ โดยฝ่ายชายจะนั่งอยู่คนละฝั่งกับฝ่ายหญิง ฝ่ายชายจะนั่งอยู่ฝั่งเดียวกับคนเชิดหุ่น เพื่อให้มองเห็นการเชิดหุ่นที่ได้อรรถรสมากกว่าฝั่งของฝ่ายหญิง เพราะฝ่ายหญิงนั้นจะถูกกำหนดให้นั่งอยู่ด้านที่มองเห็นแค่เงาของหุ่น แต่ไม่สามารถมองเห็นตัวหุ่นได้
กลุ่มที่ 2 มีความเห็นว่า การแสดงวายังนี้ ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย เนื่องจากอินเดียมีวัฒนธรรมการแสดงเชิดหุ่นและเชิดหนังมาตั้งแต่ยุคโบราณ ประวัติศาสตร์ของอินเดียนั้น มีความเก่าแก่กว่าประวัติศาสตร์ของชวาหลายร้อยปี ทำให้สามารถสันนิษฐานได้ว่า ชวาได้เห็นการแผ่ขยายอิทธิพลการเชิดหุ่นและเชิดหนังของอินเดีย จึงได้นำมาประยุกต์เป็นการแสดงประจำชาติจนถึงปัจจุบัน
กลุ่มสุดท้าย  มีความเห็นว่า การเชิดหุ่นวายังนี้ น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากจีน เนื่องจากประเทศจีนรู้จักการเชิดหุ่นมากว่าสองพันปี โดยมีหลักฐานบันทึกไว้ว่า จักรพรรดิองค์หนึ่งของราชวงศ์ฮั่น ต้องการที่จะเชิญดวงวิญญาณของนางสนมค์คนโปรดของพระองค์กลับมาจากความตาย โดยใช้วิธีการเชิดหนังเป็นสื่อกลาง

วายังเบเบ
ที่มา: http://www.thaigoodview.com
ถึงแม้ในที่สุดแล้วจะยังหาข้อยุติเรื่องต้นกำเนิดของการแสดงวายังได้ชัดเจนก็ตาม แต่ก็ยังสามารถที่จะสันนิษฐานได้ว่า  ในสังคมชาวเกาะที่มักจะนิยมบูชาบรรพบุรุษและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติอยู่แล้วนั้น การแสดงเชิดหนังหรือเชิดหุ่นกระบอกก็ย่อมจะมีอยู่ในวัฒนธรรมของกลุ่มคนเหล่านี้  โดยเงาต่างๆที่เกิดขึ้นนั้น จะให้ความหมายไปถึงเงาดวงวิญญาณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วได้กลับมาอีกครั้ง โดยการแสดงวายังนี้ มักจะนิยมแสดงในงานแต่งงาน หรือพิธีสำคัญต่างๆ โดยอาศัยความเชื่อที่ว่า ต้องการอัญเชิญดวงวิญญาณของบรรพบุรุษที่เสียชีวิตไปแล้ว กลับมารับรู้และเป็นสักขีพยานในพิธีนั้นๆ ด้วย  ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่สามารถที่จะแยกการแสดงวายังออกจากพิธีกรรมทางศาสนาได้เลย เพราะการแสดงวายังบางครั้งก็แสดงเป็นละครเพื่อให้คติสอนใจ หรือให้คำสอนเกี่ยวกับหลักศาสนาด้วย

วายังเคอโดท
ที่มา:http://www.thaigoodview.com
ชนิดของวายัง

การแสดงวายัง สามารถแบ่งออกได้ 10 ชนิด คือ วายังโกเล็ก วายังเบเบ วายังครุจิล วายังเคอโดท วายังมัดยา วายังซูลู วายังปัญจศิลา วายังโอรัง วายังกรีติ และวายังกุลิต โดยการแสดงวายังแต่ละประเภท จะมีความแตกต่างกันออกไป โดยจะกล่าวถึงแบบคร่าวๆ ดังนี้

1. วายังเบเบ
เป็นการแสดงเริ่มต้นของการแสดงวายังทั้งหมด โดยวายังเบเบ จะใช้การเขียนภาพสีบนผืนผ้า แล้วนำไปติดตามผนังโบสถ์

2. วายังเล็ก หรือวายังโกเล็ก เป็นการแสดงหุ่นวายังที่เปลี่ยนจากการเขียนภาพสีมาเป็นการเชิดหุ่น แต่การเชิดหุ่นในวายังโกเล็กนี้ จะใช้หุ่นที่ทำจากไม้เป็นตัวเชิด ยังไม่ได้นำเอาหุ่นที่มีวัสดุที่หลากหลายเข้ามาประกอบ

3. วายังครุจิล
เป็นวายังที่เชิดโดยใช้หุ่นไม้เช่นเดียวกันกับวายังโกเล็ก แต่มีข้อแตกต่างกันเล็กน้อย คือ วายังครุจิลนี้ จะนำเอาเรื่องราวหรือวรรณกรรมในสมัยของอาณาจักรมัชปาหิตมาใช้ในการแสดง

4. วายังเกอโด้ง หรือวายังเกอโดท เป็นการแสดงหุ่น โดยนำเอานิทานที่เป็นเรื่องเล่าปรัมปรามาใช้ในการแสดง

5. วายังมัดยา
เป็นการแสดงหุ่นเชิดตามแบบฉบับของชาวชะวาอย่างแท้จริง

6. วายังซูลู เป็นการแสดงหุ่นเชิด ที่มีการพัฒนาตัวหุ่นให้มีลักษณะคล้ายคนจริง และยังมีการแสดงวายังปัญจศิลา ที่มีลักษณะหุ่นที่อยู่ในพัฒนาการช่วงเดียวกันกับวายังซูลูอีกด้วย

7. วายังกรีติ หรือวายังติติ เป็นการแสดงหุ่นที่ตัวหุ่นจะทำจากดีบุก การแสดงวายังกรีตินี้ เหมาะสำหรับเด็ก

8. วายังกุลิต
เป็นช่วงที่การแสดงวายังมีพัฒนาการที่สูงสุด เพราะมีการนำเอาหุ่นที่มีลักษณะคล้ายคนจริงมาใช้ในการแสดง และยังมีการนำเอาแขนงวิชาต่างๆ ที่เกี่ยวกับศิลปะมาผสมผสานให้เข้ากับการแสดงชุดนี้ โดยไม่ได้กำหนดว่า จะต้องเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น ทำให้การแสดงวายังกุลิด ได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน

Image result for วายังกุลิต
วายังกุลิต
ที่มา:https://pearmaiffblog.wordpress.com/
จากพัฒนาการของการแสดงวายัง จะเห็นได้ว่าจุดที่เป็นจุดเริ่มต้นของวายังทั้งหมด คือ วายังเบเบ และวายังที่มีความสวยงามมากที่สุด และรวบรวมเอาทั้งความลึกลับ สัญลักษณ์ของบรรพบุรุษ รวมไปถึงศิลปะทั้งหมดมาไว้ในการแสดงเดียว ไม่ว่าจะเป็นศิลปะการดนตรี การเขียน การร่ายรำ หรือแม้กระทั่งการศึกษา นโยบาย ปรัชญาต่างๆ คือ วายังกุลิต หรือวายังปูวา การแสดงวายัง จะจัดแสดงในเวลากลางคืน เพื่อเพิ่มอรรถรสการรับชมและทำให้มองเห็นภาพเงาของหุ่นได้เหมือนดวงวิญญาณมากขึ้น เนื้อเรื่องที่นำมาใช้ในการแสดง อาจจะไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับวิญญาณของบรรพบุรุษเสมอไป เพราะสามารถนำเอาวายังกุลิด ที่มีความยืดหยุ่น สามารถนำไปปรับใช้กับการแสดงเกี่ยวกับวรรณกรรมหรือเรื่องเล่าต่างๆได้ตามความเหมาะสม โดยระยะเวลาในการจัดแสดงจะเริ่มตั้งแต่หัวค่ำจนถึงเช้า หรืออาจจะยาวไปจนถึงแสดงเป็นอาทิตย์เลยก็ได้

จากข้อมูลการแสดงวายังนี้ จะเห็นได้ว่า วัฒนธรรมการแสดงเชิดหุ่นหรือเชิดหนัง นอกจากจะแสดงความมีศิลปะ และถือเป็นการแสดงประจำชาติของอินโดนีเซียแล้ว ยังสามารถบ่งบอกถึงอุปนิสัยของคนชาวเกาะได้ว่า เป็นคนที่มีความกตัญญูต่อบรรพบุรุษมากเพียงใด  และสามารถนำเอาอุปนิสัยเหล่านี้ มาเป็นนิสัยส่วนหนึ่งในการดำรงค์ชีวิตของเราได้ เพื่อยกระดับให้เราเป็นคนที่มีความกตัญญูต่อผู้มีอุปการะคุณ และเป็นที่น่านับถือต่อผู้พบเห็นหรือคนรอบข้างต่อไปในอนาคต

สำหรับท่านที่อยากสัมผัสและเรียนรู้วัฒนธรรมอาเวียน ขอเชิญมาพบกันได้ในงาน ASEAN FOOD AND CULTURE STREET FAIR 2018 เทศกาลอาหารและวัฒนธรรมอาเซียน 2 - 3พฤศจิกายน 2561 บึงสีฐาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ลงทะเบียนล่วงหน้าเพื่อรับของที่ระลึกได้ที่นี่  goo.gl/jVWR6b แล้วเจอกันนะ


อ้างอิง

pangrum.(2011). Wayung Kulit.สืบค้นข้อมูลเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2561 จาก http://httppangrumpuppetblogspotcom.blogspot.com/2011/12/blog-post.html

Indoindians.(2016).Wayang Kulit in Indonesia – Light and Shadow. สืบค้นข้อมูลเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2561 จาก https://www.indoindians.com/history-of-wayang-in-indonesia/

education.asianart.(มปป).Introduction to Puppet Theater (Wayang) of Indonesia.สืบค้นข้อมูล เมื่อวันที่ 20  ตุลาคม 2561  จาก http://education.asianart.org/explore-resources/background-information/introduction-puppet-theater-wayang-indonesia

1 ความคิดเห็น: