วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

โครงการประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมสัญจรแหล่งอารยธรรมโบราณตามแนวชายแดนไทย-ลาว ประจำปีการศึกษา 2562

หลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดกิจกรรมภายใต้ชื่อโครงการ "ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมสัญจรแหล่งอารยธรรมโบราณตามแนวชายแดนไทย-ลาว" ประจำปีการศึกษา 2562 ที่จังหวัดอุดรธานี  หนองคาย และนครหลวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว ซึ่งเป็นทริปสองวัฒนธรรม ดำเนินการโดยนักศึกษาชั้นปีที่ 4 เอกประวัติศาสตร์เพื่อการท่องเที่ยว ภายใต้การสนับสนุนของหลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ระหว่างวันที่ 1 – 3 พฤศจิกายน 2562 เป็นเวลา 3 วัน 2 คืน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจพื้นฐานด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ โบราณคดี วัฒนธรรมท้องถิ่น และวิถีชีวิตของผู้คนตามแนวชายแดนไทย – ลาว รวมทั้งเป็นการฝึกปฏิบัติการท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 จำนวน 51 คน นักศึกษาชั้นปีที่ 4 จำนวน 15 คน และอาจารย์ 4 ท่าน ร่วมการเดินทางในครั้งนี้ โดยมีผู้ร่วมเดินทางทั้งสิ้น 71 คน


วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562

เริ่มต้นการเดินทางในวันแรก ลูกทัวร์ทุกท่านออกเดินทางจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นเวลา 06:00 น. มุ่งหน้าสู่จังหวัดอุดรธานี ในระหว่างทางนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการในทุกขั้นตอน ในฐานะผู้จัดทัวร์ และได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่มัคคุเทศก์อย่างเต็มรูปแบบ จากการลำเลียงลูกทัวร์ขึ้นรถและกล่าวเปิดทัวร์สถานที่แรกของจังหวัดอุดรธานีที่เราได้ไปเยือนคือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง ตั้งอยู่ในตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน


โดยความสำคัญของพิพิธภัณฑ์ฯ แห่งนี้ ถือได้ว่าเป็นสถานที่สำคัญยุคก่อนประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมแห่งเดียวในภาคอีสานที่มีการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก (UNESCO - United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) ในปี 2535


ในการนี้เราได้รับการอนุเคราะห์วิทยากรจากทางพิพิธภัณฑ์ฯ ให้เกียรติมาบรรยายและพาเราชมการจัดแสดงนิทรรศการหลัก ในโซนต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งหมด 9 โซน ดดยมีการจัดแสดงวัตถุโบราณที่ทำให้ทราบว่าการขุดค้นนั้นเป็นอย่างไร ผ่านแบบการจำลอง และของจัดแสดงจริง ที่แสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการทางวัฒนธรรม สังคม เทคโนโลยี และการเชื่อมโยงของผู้คนในพื้นที่อุษาคเนย์กว่าหลายพันปี


การชมพิพิธภัณฑ์ในครั้งนี้ทำให้เราทราบถึงข้อมูลความเป็นมาของบ้านเชียง แต่ก็อาจจะยังไม่เพียงพอเท่ากับการได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง สำหรับช่วงต่อมา เราได้ลงมือทำกิจกรรมร่วมกับชาวบ้าน ณ ศูนย์เรียนรู้ชุมชน วิสาหกิจชุมชน ปั้นหม้อ เขียนสีบ้านเชียง (บ้านพิพิธภัณฑ์) นั่นคือ กิจกรรมเพ้นท์ลวดลายลงบนไห ถือเป็นกิจกรรมที่ไม่เฉพาะได้แค่ความสนุกเท่านั้น ยังทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ แต่ละคนจะได้สวมบทบาทเป็นจิตรกรมือสมัครเล่นเลียนแบบคนบ้านเชียงโบราณ ทำการ เพ้นต์ (paint) วาด ‘ลวดลาย’ ในแบบฉบับของตนบรรจงลงบนไหดินเผาบ้านเชียง และก็ได้ติดตัวกลับบ้านเป็นของที่ระลึกกันทุกคน


อีกทั้งลูกทัวร์บางคนยังได้ทำกิจกรรมหล่อดินขึ้นเป็นรูปหม้อไหต่างๆ โดยวิทยากรได้ให้ความรู้และแนะนำว่า การหล่อดินในสมัยเก่านั้นอาศัยการปั้นและตีให้ขึ้นรูป แต่เครื่องหล่อจะทำได้เฉพาะไหที่มีขนาดเล็กเท่านั้น และนำไปเผาที่อุณหภูมิมากกว่า 900 องศา อีกทั้งยังได้นำเศษดินที่ปั้นไหนำมาทำเป็นลูกปัดเพื่อร้อยกำไลและสร้อยคอ จึงเป็นที่มาของอาชีพของคนในท้องถิ่น แต่ละคนต่างมีความสนุกกับกิจกรรมที่ได้ทำในช่วงแรกของวัน


ก่อนที่จะเข้าสู่จังหวัดหนองคาย ปิดท้ายด้วยการไปเยือนสถานที่ในตัวเมืองของจังหวัดนั่นคือ พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี ตั้งอยู๋ใกล้กับสวนสาธารณหนองประจักษ์ ความสำคัญของพิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี สร้างโดยพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในรัชกาลที่ 6 ที่โปรดให้สร้างโรงเรียนสตรีขึ้นประจำทั่วทุกภูมิภาค รวมถึงมณฑลอุดรในขณะนั้นด้วย


แต่ใน พ.ศ. 2462 พระองค์เสด็จสวรรคตเสียก่อน การดำเนินงานจึงจำต้องค้างมา ซึ่งตึกราชินูเก่า อาคารเรียนของโรงเรียนสตรีประจำมณฑลอุดรแห่งนี้ก็คืออาคารของพิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานีนั่นเอง แต่ไม่ว่าจะอย่างไร สิ่งก่อสร้างนี้ถือเป็นตัวแสดงประวัติศาสตร์ที่สำคัญของจังหวัดอุดรธานี ผ่านการจัดแสดงประวัติความเป็นมาของจังหวัดอย่างครบครันและทันสมัย ด้วยการออกแบบภายในที่น่าสนใจ ซึ่งผ่านการปิดปรับปรุงมาระยะหนึ่ง ในขณะนี้อยู่ในช่วงของการทดลองระบบ แต่ก็สร้างความตื่นตาตื่นใจในการเข้ารับชมเป็นอย่างมาก


จากนั้น เราเดินทางออกจากอุดรฯ มุ่งหน้าสู่จังหวัดหนองคาย อันเป็นเมืองชายแดนริมฝั่งแม่น้ำโขง เมืองที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็น เมืองพญานาค ซึ่งเทศกาลชมบั้งไฟพญานาคเพิ่งจะผ่านพ้นไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผานมา และก่อนการเดินทางจะจบลงในวันนี้ เราได้เยี่ยมเยือนสถานที่สุดท้ายของวัน ที่ถือว่าถ้าไม่มาเยือนก็เหมือนมาไม่ถึงจังหวัดนี้ วัดโพธิ์ชัย เป็นวัดที่มีความเก่าแก่และมีความสำคัญในฐานะที่เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ‘หลวงพ่อพระใส’ พระปางมารวิชัย ถือเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองที่มีตำนานผูกพันธ์กับทั้งชาวไทยและลาวในประวัติศาสตร์ พวกเราได้เข้าไปไหว้พระเพื่อความเป็นสิริมงคลที่ได้มีโอกาสมาเยือนเมืองหนองคาย จากนั้นจึงเดินทางไปรับประทานอาหารเย็น พร้อม Check-in เข้าห้องพัก


วันที่ 2 พฤศจิกายน 2562

เช้าวันที่สอง เราได้เดินทางข้ามสะพานมิตรภาพไทย – ลาว มุ่งหน้าสู่เมืองนครหลวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว โดยเริ่มต้นจากการสักการะ พระธาตุหลวง ซึ่งเป็นศูนย์รวมใจของชาวลาวและเพื่อความเป็นสิริมงคลสำหรับการเดินทางในครั้งนี้ โดยพระธาตุหลวงเป็นแลนมาร์คที่สำคัญ ทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติของประเทศลาว ตามตำนานกล่าวว่า พระธาตุหลวงมีประวัติการก่อสร้างยาวนานนับพันปี เช่นเดียวกับพระธาตุพนมในประเทศไทย ลูกทัวร์ต่างมีความตื่นเต้นกับความสูงขององค์พระธาตุกว่า 45 เมตร ที่เหลืองทองอร่ามตัดกับท้องฟ้าสีฟ้าสด ยิ่งขับความสวยงามให้องค์พระธาตุเป็นทวีคูณ


เมื่อสักการะพระธาตุหลวงเรียบร้อยแล้ว เราได้เดินทางต่อไปที่ ปะตูไซ หรือ ประตูชัย ซึ่งเป็นอนุสรณ์สถานที่สำคัญใจกลางนครหลวงเวียงจันทน์ ความสวยงามของปะตูไซแห่งนี้ถูกตกแต่งด้วยศิลปะแบบล้านช้าง และมีทั้งความเชื่อทางศาสนาพุทธ ไม่ว่าจะเป็น กินรี พญานาค และเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีปะตูไซแห่งนี้รู้จักกันในชื่อ อานุสาวะลี สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงวีรชนในการประกาศเอกราชจากฝรั่งเศส ต่อมาลาวได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ จึงได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น  ปะตูไซ เพื่อเกียรติแก่ชัยชนะของคณะปฏิวัติมาจนถึงปัจจุบัน ลูกทัวร์ต่างพากันเก็บภาพความสวยงามกันแทบทุกมุมของปะตูไซแห่งนี้


สถานที่ต่อมา เราได้นำลูกทัวร์เข้าชม COPE Visitor Center ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเกี่ยวกับเรื่องราวต่าง ๆ ทั้งสิ่งที่ชาวลาวสูญเสีย และสิ่งที่พวกเขาพยายามปรับตัวเข้ากับสิ่งที่เกิดขึ้น จากการที่สหรัฐอเมริกาได้ทิ้งระเบิดจำนวนมหาศาลลงมาที่ลาว กล่าวได้ว่าลาวเป็นประเทศที่ถูกโจมตีทางอากาศมากที่สุดในโลก ในช่วง สงครามเวียดนาม ที่ทุกวันนี้ยังคงหลงเหลืออยู่ตามป่าลึกของลาว


จากนั้น เราได้มีโอกาสแวะนมัสการเจ้าแม่สีเมืองที่ วัดสีเมือง ซึ่งเป็นหลักเมืองของนครหลวงเวียงจันทน์ ตามตำนานกล่าวว่า แม่สีเมือง เป็นสตรีที่สละชีวิตของตนพร้อมลูกในท้องเพื่อเป็นแม่เมือง ตามความเชื่อในการจัดตั้งเสาหลักเมือง คณะลูกทัวร์ต่างพากันกราบไหว้เพื่อเป็นศิริมงคลและร่วมกันเสี่ยงเซียมซีเพื่อทำนายโชคชะตา เมื่อสิ้นสุดการนมัสการเจ้าแม่สีเมืองแล้ว ถึงเวลารับประทานอาหารกลางวัน เราจึงพาลูกทัวร์ไปกันที่ภัตตาคารแม่ของ ซึ่งเป็นร้านอาหารที่มีวิวทิวทัศน์เป็นแม่น้ำโขง


หลังจากรับประทานอาหารกลางวันเสร็จเรียบร้อยเราได้นำลูกทัวร์เดินทางไปยัง พิพิธภัณฑ์หอพระแก้ว ซึ่งความสำคัญของพิพิธภัณฑ์หอพระแก้วนี้เดิมเป็นวัดหลวงประจำราชวงศ์ของลาว สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ.2108 เพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตที่ได้อัญเชิญมาจากล้านนา เมื่อต้องเสด็จกลับมาครองราชบัลลังก์ล้านช้างหลังจากที่พระราชบิดาคือพระเจ้าโพธิสารสิ้นพระชนม์ลงในการทำศึกสงครามกับประเทศสยาม เมื่อ พ.ศ.2322 นครเวียงจันทน์ถูกกองทัพสยามตีแตก กองทัพสยามได้อัญเชิญพระแก้วมรกต พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของนครเวียงจันทน์ไป พร้อมทั้งกวาดต้อนราชวงศ์ชาวลาวกลับไปยังกรุงเทพฯมากมาย


สำหรับหอพระแก้วในปัจจุบันเป็นของที่ถูกบูรณะขึ้นใหม่เกือบทั้งหมด แม้หอพระแก้วปัจจุบันไม่ใช่สถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอีกต่อไป แต่นักท่องเที่ยวได้เดินทางมาเพื่อสักการะบูชากันเป็นจำนวนมาก สำหรับส่วนในของพิพิธภัณฑ์นั้น จัดแสดงพระแท่นบัลลังก์ปิดทองจารึกพระไตรปิฏก ภาษาขอมและกลองสำริดประจำราชวงศ์ลาว พระพุทธรูปในศิลปะล้านช้างจำนวนมาก แต่ไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพด้านในพิพิธภัณฑ์ สำหรับประตูใหญ่ทั้งสองเป็นของเก่าที่หลงเหลือมาแต่เดิม เมื่อสักการะและเดินชมบริเวณโดยรอบซึ่งมีพระพุทธรูปสำริดหลากหลายปางประดิษฐานอยู่ เราได้เดินทางกันต่อไปยังสวนสาธารณะเจ้าอนุวงศ์จันทน์

สวนเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ เป็นที่ตั้งอนุสาวรีย์ 1 ใน 3 กษัตริย์ของลาว อนุสาวรีย์ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงซึ่งในช่วงเย็นจะเป็นสถานที่นิยมในการมานั่งพักผ่อนหย่อนใจและมีนักท่องเที่ยวเดินชมบรรยากาศในช่วงเย็นเป็นอย่างมาก ซึ่งถือได้ว่าสถานที่แห่งนี้เป็นสวนสาธารณะเพียงแห่งเดียวที่มีคนมามากที่สุดทั้งคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว


และสถานต่อมาก่อนกลับสู่ด่านมิตรภาพไทย-ลาว นำลูกทัวร์เลือกซื้อสินค้าที่ร้านกลอดภาษี มีสินค้าแบรนด์เนม กระเป๋า นาฬิกา ไวน์ น้ำหอม และสินค้าอื่น ๆ อีกมากมาย และหลังจากได้ซื้อของฝากและสินค้าต่าง ๆ นำลูกทัวร์กลับสู่จังหวัดหนองคายโดยสวัสดิภาพ

ในช่วงเย็นของวันที่สองครั้งจากที่กลับมาจากฝั่งลาว เราให้ลูกทัวร์พักผ่อนเพื่อที่จะเตรียมตัวไปเดินเที่ยวชมถนนคนเดินริมโขง ซึ่งจะจัดขึ้นเฉพาะวันเสาร์และเป็นที่นิยมของคนหนองคาย ทั้งได้เดินชมสินค้าต่าง ๆ และยังมองพระอาทิตย์ตรงริมฝั่งโขงในช่วงเย็น ลูกทัวร์ตามอัธยาศัยและมีการนัดเวลา เพื่อที่รถของคณะทัวร์จะมารับเพื่อกลับโรงแรม

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2562

คณะทัวร์เช็คเอาท์และเดินทางออกจากโรงแรมในเวลา 9.00 น. ตามกำหนดการ ออกเดินทางไปยังตลาดท่าเสด็จ ซึ่งเป็นตลาดที่มีประวัติศาสตร์อย่างยาวนาน เดิมมีชื่อว่าตลาดท่าเรือ เป็นตลาดที่มีการไปมาหาสู่กันระหว่างชายแดนไทยลาวเพื่อและเปลี่ยนสินค้าระหว่างกัน นั่นจึงทำให้เป็นบริเวณที่มีการตั้งด่านตรวจคนเข้าเมืองและทำหนังสือเดินทาง ในปี 2523 มีน้ำท่วมใหญ่เกิดขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถได้ทรงเสด็จไปเยี่ยมเยียนราษฎรผู้ประสบภัย จังหวัดหนองคาย พระองค์ได้เสด็จขึ้นจากเรือพระที่นั่นที่ตลาดท่าเรือแห่งนี้ ซึ่งภายหลังตลาดท่าเรือแห่งนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็นตลาดท่าเสด็จ


ปัจจุบันตลาดแห่งนี้รวบรวมสินค้าจาก 5 ประเทศ ทั้งไทย ลาว เมียนมา เวียดนามและจีน มีทั้งเสื้อผ้า กระเป๋า ของใช้เบ็ดเตล็ด อาหารแห้งและสินค้าอื่น ๆ อีกมากมาย


หลังจากเลือกซื้อสินค้าที่ตลาดท่าเสด็จเป็นที่เรียบร้อย คณะทัวร์ได้ออกเดินทางไปยังร้านอาหารวีทีแหนมเนือง เป็นร้านแหนมเนืองขนาดใหญ่ที่เปิดให้เป็นศูนย์อาหารและแหล่งช๊อปของฝากอีกด้วย ที่นี่สามารถรองรับลูกค้าได้เป็นจำนวนมาก ด้วยลานจอดขนาดใหญ่ ร้านอาหารบริเวณด้านนอกเหมาะกับขาจรที่ผ่านมารับประทานอาหารเที่ยง ที่ราคาถูกและคุณภาพดี ทั้งยังมีร้านแหนมเนืองและร้านขายของฝากอยู่โซนด้านในอีกด้วย ซึ่งลูกทัวร์ได้เลือกซื้อของที่ระลึกต่าง ๆ อย่างมากมาย


รับประทานอาหารเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ได้นำคณะทัวร์เดินทางไปยัง หมู่บ้านห้วยสำราญ หรือที่รู้จักกันในชื่อหมู่บ้านดอกไม้ เป็นหมู่บ้านที่ประสบความสำเร็จในเรื่องของการส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นของตนเอง จากการส่งเริมของกรมการเกษตรของจังหวัดอุดรราชธานีเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องของการพัฒนาคุณภาพของดอกไม้ที่ปลูกเพื่อส่งออกไปขาย ซึ่งมีการส่งออกไปยังจังหวัดใกล้เคียงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในประเทศไทยและไกลไปถึงประเทศลาวอีกด้วย โดยดอกไม้ที่ปลูกก็มีหลากหลายสายพันธุ์ ทั้งดอกเบญจมาศ ดอกคัตเตอร์ ดาวเรือง ดอกมะลิและอื่น ๆ อีกมากมาย


หมู่บ้านแห่งนี้ยังเป็นศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับการเพาะปลูกดอกไม้และมีแปลงสาธิตให้กับผู้ที่สนใจศึกษาดูงาน โดยคณะลูกทัวร์ได้ร่วมปลูกต้นกล้าของดอกเบญจมาศอย่างสนุกสนานก่อนที่จะเดินทางกลับมหาวิทยาลัยขอนแก่นโดยสวัสดิภาพ
"การเรียนรู้นอกห้องเรียนมีความสำคัญและจำเป็นในการสร้างเสริมประสบการณ์ตรงให้กับนักศึกษา และโดยเฉพาะการได้ฝึกทำงานในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเขียนโครงการ การวางแผนงาน การดำเนินงาน การฝึกเป็นมัคคุเทศก์ จาการฝึกปฏิบัติจริง นักศึกษาได้เรียนรู้ถึงขั้นตอนการทำงาน การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และการได้แสดงศักยภาพของตนออกมาอย่างเต็มที่ รวมทั้งโครงการนี้ยังได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนักศึกษาแต่ละชั้นปีและอาจารย์ให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ซึ่งประสบการณ์ที่ได้รับในครั้งนี้มีคุณค่ายิ่งสำหรับการเรียนและการทำงานในอนาคต"























    
















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น