วันศุกร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2562

เรียนรู้อดีตจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น (Khonkaen National Museum)

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น เป็นหนึ่งในจำนวนพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 8 แห่งที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน นับว่าเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับอดีตที่สำคัญ โดยเฉพาะประวัติความเป็นมาของท้องถิ่นอีสาน ที่แสดงให้เห็นถึงร่องรอยวัฒนธรรมที่ต่อเนื่องยาวนาน ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งการจำลองวิถีชีวิตของคนอีสานที่นับวันจะหาดูได้ยากขึ้น

รายงานโดย คุณาสิน ลุนพุฒ
ภาพและเรียบเรียงโดย ศรัณย์พร อึ้งวนารัชต์

วันที่ 25 มกราคม 2562 อาจารย์ ดร.เวียงคำ ชวนอุดม อาจารย์ประจำรายวิชา 428333 แหล่งท่องเที่ยวตามประวัติศาสตร์ไทย (Historical Sites in Thai History) ได้นำนักศึกษาชั้นปีที่ 3 เอกประวัติศาสตร์เพื่อการท่องเที่ยว หลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ไปเรียนรู้นอกสถานที่ คือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น (Khonkaen National Museum) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอารยธรรมต่าง ๆ ที่ปรากฎในภาคอีสานผ่านโบราณวัตถุที่ถูกจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ทั้งนี้ยังเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศการเรียนการสอน และทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง


พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น ตั้งอยู่บริเวณด้านหลังศูนย์ราชการ ไม่ไกลจากบริเวณใจกลางเมืองมากนัก เปิดให้เข้าชม ตั้งแต่เวลา 09:00 - 16:00 น. หยุดทำการวันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ค่าธรรมเนียมเข้าชมคนไทยท่านละ 20 บาท ชาวต่างชาติท่านละ 100 บาท ส่วนนักเรียนหรือนักศึกษาในเครื่องแบบหรือขออนุญาตเข้าชมมาไม่ต้องเสียค่าเข้าชม โดยภายในจัดแสดงโบราณวัตถุ ทั้งเครื่องมือ เครื่องใช้ ศาสนวัตถุ และโครงกระดูกมนุษย์ ที่แสดงให้เห็นถึงร่องรอยอารยธรรมที่ปรากฎในบริเวณภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ถึงสมัยรัตนโกสินทร์ รวมถึงมีการจำลองวิถีชีวิตผู้คนในภาคอีสานด้วย


ทางคณะของพวกเราได้เดินทางมาถึงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อาจารย์  ได้เกริ่นให้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี เพื่อทบทวนองค์ความรู้และช่วยให้นักศึกษามีความเข้าใจในภาพรวมเกี่ยวกับพัฒนาการของวัฒนธรรมมนุษย์ โดยเฉพาะในท้องถิ่นอีสาน ก่อนเข้าไปชมโบราณวัตถุที่จัดแสดงภายในตัวอาคาร

แต่สิ่งสำคัญก่อนที่จะเข้าชมก็ควรต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ทางพิพิธภัณฑ์ฯ ตั้งเงื่อนไขไว้ เราจะสังเกตเห็นได้ที่ประตูทางเข้า จะมีป้ายที่แสดงเวลาเข้าชมและข้อควรปฏิบัติต่างๆ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการเข้าชม เช่น การห้ามบันทึกภาพโบราณวัตถุบางชิ้น ห้ามสัมผัสโบราณวัตถุ และต้องฝากกระเป๋าไว้ล็อกเกอร์บริเวณทางเข้า เป็นต้น ซึ่งพวกเราขอเป็นผู้เยี่ยมชมที่ดี ได้ทำตามกฎอย่างเคร่งครัด

*ปกติสามารถถ่ายภาพได้โดยไม่ใช้แฟลช ยกเว้นบางวัตถุที่มีความสำคัญ มีมูลค่าสูง และละเอียดอ่อนเท่านั้น ขอให้สังเกตป้ายห้ามที่ติดไว้บริเวณตู้จัดแสดงบางแห่งด้วย


แผนผังพื้นที่จัดแสดง
การเข้าชมควรเริ่มต้นตามลำดับพัฒนาการทางวัฒนธรรม จากก่อนประวัติศาสตร์ไปจนถึงประวัติศาสตร์ให้สังเกตที่พื้น จะมีลูกศรสีแดงนำทางไปยังห้องต่างๆ ตามลำดับ โดยรายละเอียดต่างๆ สามารถสแกนคิวอาร์โคตที่ติดไว้ประจำตู้จัดแสดง เข้าไปอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้

ภายในตัวอาคารได้แบ่งการจัดแสดงออกเป็นส่วนต่างๆ ดังนี้

1. สมัยก่อนประวัติศาสตร์ (Prehistoric Period)

ส่วนแรกเมื่อเข้าประตูพิพิธภัณฑฯ ให้มาทางขวามือก่อน คือ ส่วนที่จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ตั้งอยู่ในชั้น 1 จัดแสดงเครื่องมือ เครื่องใช้ของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ยุคหินเก่าจนถึงก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย เช่น เครื่องมือหิน เครื่องประดับ เครื่องปั้นดินเผา เป็นต้น


เครื่องมือเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการในการรู้จักประดิษฐ์คิดค้นของมนุษย์ในแต่ละยุค ซึ่งมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ยังมีโครงกระดูกของมนุษย์จำลอง 1 โครง ที่แสดงให้เห็นถึงพิธีกรรมความเชื่อเกี่ยวกับความตาย และวิธีการฝังศพของคนสมัยก่อนประวัติสาสตร์ ที่อาจมีการมัดหรือห่อศพ พร้อมวางเครื่องมือเครื่องใช้เป็นของอุทิศให้กับศพ

ในบางพื้นที่ยังมีการฝังศพในภาชนะดินเผา ส่วนใหญ่อาจเป็นการฝังครั้งที่สองที่นำกระดูกมนุษย์ที่ฝังไว้แล้วมาทำพิธีฝังใหม่ในภาชนะดินเผาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นประเพณีที่พบมากโดยเฉพาะในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ในภาคอีสาน


โครงกระดูกมนุษย์ ความสูง 163 ซ.ม เพศชาย อายุมากกว่า 30 ปี
ป้ายสมัยทวารวดี
2. สมัยประวัติศาสตร์แรกเริ่ม และวัฒนธรรมทวารวดี (Dvaravati Period)

ส่วนถัดมาในฝั่งตรงข้ามภายในชั้นเดียวกัน เป็นการจัดแสดงภาพถ่ายทางอากาศแสดงให้เห็นลักษณะของเมืองโบราณสมัยทวารวดี และโบราณวัตถุต่างๆ ในส่วนนี้เป็นโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาอย่างชัดเจน ไฮไลท์สำคัญคือ ใบเสมา (Boundary Markers) ทำด้วยหินทรายขนาดใหญ่ ที่มีภาพสลักเล่าเรื่องพุทธประวัติและชาดกต่างๆ จากแหล่งโบราณคดีเมืองฟ้าแดดสงยาง ซึ่งเป็นร่องรอยวัฒนธรรมทวารวดีในภาคอีสานที่แตกต่างจากภาคอื่นๆ พระพิมพ์ (Votive Tablets) ชิ้นส่วนปูนปั้นประดับโบราณสถาน และพระพุทธรูป (Buddha images) ซึ่งชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการด้านงานศิลปะและความรุ่งเรืองของพุทธศาสนาในยุคดังกล่าว

ใบเสมาที่ค่อนข้างสมบูรณ์ 

นายวรุณ สมานเพชร ทดลองการเป็นมัคคุเทศก์ให้เพื่อนๆ และอาจารย์ฟัง

ภาพมุมกว้างในโซนที่ 2

3. สมัยลพบุรี (Loburi Period) หรือวัฒนธรรมเขมรโบราณที่พบในประเทศไทย 


ป้ายโซนสมัยลพบุรี
หลังจากเดินชมและศึกษารายละเอียดต่างด้านล่างแล้ว เมื่อขึ้นมาที่ชั้นสองบริเวณด้านซ้ายมือ เป็นส่วนที่จัดแสดงวัฒนธรรมเขมรโบราณ ที่พบในประเทศไทย ในส่วนนี้มีโบราณวัตถุที่หลากหลายทั้งศาสนวัตถุและเครื่องมือ เครื่องใช้ โดยเฉพาะศาสนวัตถุที่แสดงเอกลักษณ์ของของศิลปะเขมรอย่างชัดเจน เช่น เทวรูป หน้าบัน รูปเคารพ พระโพธิสัตว์ เป็นต้น






4.วัฒนธรรมล้านช้าง - รัตนโกสินทร์ (Lan Chang - Bangkok Period)


ป้ายวัฒนธรรมล้านช้าง-รัตนโกสินทร์
เดินต่อมาอีกด้านเป็นส่วนวัฒนธรรมล้านช้าง-รัตนโกสินทร์ มีการจัดแสดงพระพุทธรูปศิลปะแบบล้านช้าง และการจำลองพระเจดีย์องค์สำคัญอิทธิพลของศิลปะล้านช้าง อาทิ พระธาตุเชิงชุม พระธาตุศรีสองรัก เป็นต้น รวมถึงมีการจัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ และภาพถ่ายของชาวอีสานสมัยรัตนโกสินทร์




5. ห้องศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านอีสาน

จากนั้นลงมาที่ชั้นหนึ่งที่โซนด้านหลัง ฝั่งขวามือมีห้องที่จัดแสดงวิถีชีวิต เครื่องจักรสาน เครื่อดนตรี และเครื่องมือเครื่องใช้ที่สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรม ภูมิปัญญาของผู้คนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ





หลังจากที่เดินชมภายในตัวอาคารทั้ง 5 ส่วนครบถ้วนแล้ว หากใครอยากได้รายละเอียดเพิ่มเติม ก็สามารถศึกษาได้จาก พิพิธภัณฑ์เสมือนจริง (Virtual Museum) เครื่องคอมพิวเตอร์ระบบสัมผัส ซึ่งจะให้ข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมแบบสามมิติ เกี่ยวกับโบราณวัตถุที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งนี้ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่สำคัญ ๆ ในประเทศไทย อาทิ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจันทรเกษม เป็นต้น นอกจากเครื่องมือดังกล่าวแล้ว ยังมีแผ่นพับที่ให้ข้อมูลด้านโบราณคดีแจกฟรีที่เคาน์เตอร์ด้านหน้าอีกด้วย




6. อาคารจัดแสดงใบเสมา และส่วนที่จัดแสดงใบเสมากลางแจ้ง

เมื่อเดินออกมานอกอาคาร มีการจัดแสดงใบเสมาเป็นกลุ่มๆ บริเวณด้านข้างและด้านหลังอาคารพิพิธภัณฑ์ เป็นการจำลองการวางตัวของกลุ่มใบเสมา และยังมี อาคารใบเสมา ที่จัดเก็บใบเสมาสำคัญโดยเฉพาะที่มีลวดลายแกะสลักหรือมีจารึก ด้านในอาคารจะสังเกตเห็นแผ่นศิลาขนาดใหญ่หลากหลายขนาดและรูปร่าง






ทางคณะของเราใช้เวลาเดินชมและศึกษารายละเอียดจนทั่วในเวลาเกือบ 3 ชั่วโมง เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนแล้ว จึงกลับไปเอาสัมภาระที่ฝากไว้ในล็อกเกอร์บริเวณทางเข้าอาคาร และไม่ลืมที่จะขอบคุณพี่ๆ บุคลากรของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ที่ใจดีและคอยอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้

การเรียนรู้นอกสถานที่ในครั้งนี้นอกจากจะได้ความรู้ ได้สัมผัส(ด้วยสายตา) กับโบราณวัตถุของจริงที่ไม่ใช่แค่เห็นจากภาพถ่ายภายในห้องเรียนแล้ว ยังได้เห็นถึงวิธีการจัดการกับโบราณวัตถุของทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ การสงวนรักษา และนำมาจัดแสดงให้กลายเป็นแหล่งความรู้สำคัญของท้องถิ่น ให้กับเด็ก เยาวชน และบุคคลทั่วไปที่สนใจด้านประวัติศาสตร์และอดีตความเป็นมาของมนุษย์ และการแสดงอัตลักษณ์ความเป็นอีสานผ่านการจัดแสดงห้องศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านอีสาน ที่ชี้ให้เห็นว่าวัฒนธรรมอีสานเป็นมรดกที่ล้ำค่าที่ลูกหลานควรสืบทอดไว้ให้ยาวนานที่สุด  ควบคู่กับการเปลี่ยนแปลงของยุคประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่มีความเป็นมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน


ติดต่อสอบสอบถามเพิ่มเติม 

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น ที่อยู่ : 193 ถนนหลังศูนย์ราชการ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น 40000  โทรและโทรสาร : 043-246170















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น