วันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

SEAS-KKU ออกภาคสนามที่จังหวัดเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา 10-12 กรกฎาคม 2562

หลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดโครงการสำรวจและเก็บข้อมูลภาคสนามพื้นที่กัมพูชา ประจำปีการศึกษา 2562 เป็นระยะเวลาทั้งหมด 3 วันระหว่างวันที่ 10-12 กรกฎาคม 2562 ณ จังหวัดเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา โดยมีนักศึกษาระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 2 ของหลักสูตรฯ ทั้งหมด 44 คน นักศึกษาปริญญาโทจำนวน 1 คน และอาจารย์ประจำหลักสูตร 2 ท่าน รวมทั้งหมด 47 คน เข้าร่วมโครงการ

รายงานโดย


โดยโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับอารยธรรมและประวัติศาสตร์ของอาณาจักรขอมโบราณที่ยังคงความยิ่งใหญ่สืบต่อมาจนถึงยุคปัจจุบัน เพื่อศึกษาและเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับศิลปะขอมโบราณ งานด้านสถาปัตยกรรม ประเพณีและความเชื่อต่าง ๆ ของคนในอดีต เพื่อเพิ่มพูนทักษะการเก็บข้อมูลภาคสนาม และเพื่อศึกษาวัฒนธรรม ประเพณีรวมไปถึงวิถีชีวิตของชาวกัมพูชาผ่านสถานที่จริง ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้



วันแรก 10 กรกฎาคม 2562  

เดินทางออกจากมหาวิทยาลัย เวลา 03.00 น. ไปที่ด่านช่องจอม จังหวัดสุรินทร์ เพื่อเดินทางข้ามแดนไปยังจังหวัดเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา พวกเราไปถึงเสียมเรียบในเวลาใกล้เที่ยง จึงไปรับประทานอาหารกลางวันก่อน แล้วไปซื้อตั๋วเข้าชมเมืองโบราณ ซึ่งต้องถ่ายรูปติดบัตรด้วย โดยตั๋ว 1 วัน ราคา $37 ต่อหัว จากนั้นช่วงบ่ายจึงเดินทางไป พิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครวัด (Angkor National Museum) เพื่อศึกษาวัฒนธรรม สังคม ความคิด และความเชื่อตั้งแต่สมัยโบราณของชาวกัมพูชา ผ่านการจัดแสดงนิทรรศการทั้งหมด 9 ห้อง ห้องแรกคือ Briefing Hall ชมภาพยนตร์แนะนำพิพิธภัณฑ์ อย่างคร่าวๆ

ต่อมาคือห้อง Exclusive Gallery: 1000 Buddha Images แสดงถึงอิทธิพลของศาสนาที่มีผลต่อประติมากรรมและสถาปัตยกรรมในการสร้างพระพุทธรูป ซึ่งมีความแตกต่างกันในแต่ละช่วงยุคสมัย ห้อง Khmer Civilization เล่าถึงความเป็นมาของอาณาจักรขอม รวมถึงศาสนาและเทพเจ้าต่าง ๆที่ทำให้เกิดเป็นงานศิลปะ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากอารยธรรมอินเดียเกือบทั้งหมด ห้อง Religion and Beliefs แสดงร่องรอยของความเชื่อ ความศรัทธาในศาสนา ความเป็นมาของศาสนาในกัมพูชา

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครวัด (Angkor National Museum)

ห้อง Great Khmer Kings “The Great Inventors” เล่าเรื่องราวกษัตริย์เขมร 4 พระองค์ ที่ทำให้อาณาจักรขอมยิ่งใหญ่  ห้อง Ankor Wat “Heaven on Earth” ฉายวีดีทัศน์และแสดงนครวัดจำลอง

ห้อง Angkor Thom “The Pantheons of Spirit” ห้องแสดงนครธม เรียนรู้วัฒนธรรม อิทธิพลพุทธศาสนาแบบมหายาน วิถีชีวิตต่อผู้คนในยุคต่าง ๆ  ห้อง Story from Stone “The Evidence of the Past” เรื่องเล่าจากศิลาจารึก ที่บันทึกถึงความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรขอม ความเชื่อต่างๆ ห้อง Ancient Costume “The Fascination of Apsara” พัสตราภรณ์โบราณของนางอัปสร แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองเกี่ยวกับการแต่งกายของคนสมัยก่อนซึ่งบ่งบอกถึงสถานะทางสังคม

หลังออกจากพิพิธภัณฑ์พวกเราได้เดินทางไปกราบนมัสการ พระเจ้าเจ๊กเจ้าจอม พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองเสียมเรียบเพื่อความเป็นสิริมงคล จากนั้นจึงเดินทางไปรับประทานอาหารค่ำ และกลับที่พักในเวลา 19.00 น.


วันที่สอง 11 กรกฎาคม 2562 

เดินทางออกจากที่พักในเวลาประมาณ 07.30 น. เพื่อมุ่งหน้าไปยังโบราณสถานที่แรกนั่นก็คือ ปราสาทบันทายสรี (Banteay Srei) หรือมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า อิศวรปุระ โดยมีพี่มัคคุเทศก์ คุณเจีย สุวรรณ ได้อธิบายให้พวกเราฟังว่า ปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์และเพื่อเป็นการถวายแด่พระอิศวร และยังเรียกว่าเป็นปราสาทสตรีหรือป้อมสตรี อาจเนื่องจากความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพราหมณ์ ที่เชื่อว่าสร้างเพื่อเปิดพรหมจรรย์สตรีผู้ที่มีความสูงสูงกว่าต้นเสานางเรียงในตัวปราสาท

หน้าประตูทางเข้าปราสาทบันทายสรี

บันทายสรี ยังเป็นปราสาทที่สร้างด้วยหินทรายสีชมพู ซึ่งหายากและมีภาพสลักละเอียดงดงาม จนได้ฉายาว่าเป็น อัญมณีของกลุ่มปราสาททั้งหลาย โดยมีจุดเด่นอยู่ที่ลวดลายการแกะสลักต่างๆ ภายในตัวปราสาท ไม่ว่าจะเป็นการแกะสลักเรื่องราวบนหน้าบัน ทับหลัง รวมไปลายประตูหลอก ที่จะสลักเพื่อเล่าถึงเรื่องราวต่างๆ โดยเฉพาะความเชื่อ เช่น หน้าบันของปรางค์ประธาน เป็นการสลักเรื่องราวเกี่ยวกับพระศิวะที่ร่ายรำ 120 ท่า เชื่อว่าการเต้นรำของพระศิวะมีผลต่อความเป็นไปของโลกและมนุษย์ อีกทั้งพระองค์ยังเป็นบรมครูแห่งการร่ายรำ และอีกนัยหนึ่งที่พี่ไกด์บอกมาก็เพื่อทำให้ความงามของสาวรูปงานนางหนึ่งหายไป(แก่ลง) เพื่อที่นางจะได้ใช้ชีวิตอย่างสงบ ปราศจากชายหนุ่มมารบกวนเสียที เรื่องนี้ก็เพิ่งเคยได้ยินครั้งนี้แหล่ะจากไกด์ท้องถิ่น

ประติมากรรมรูปเทวดา หน้าประตูทางเข้าเมืองนครธม ด้านทิศใต้

สถานที่ต่อมาคือ ประตูเมืองด้านทิศใต้ของเมืองนครธม (Angkor Thom) นครธมเป็นเมืองที่สร้างโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กำแพงเมืองนั้นสูงมากถึง 7 เมตร มีทั้งหมด 5 ประตู โดยประตูสำคัญที่ได้รับการบูรณะและยังเหลือสมบูรณ์มากที่สุดคือ ประตูด้านทิศใต้ โดยทางเข้าเมืองนั้นมีสะพานนาคราชที่ขอบสะพานนั้นเต็มไปด้วยปฏิมากรรมรูปปั้นของเหล่าเทพและอสูรที่กำลังยุดนาค จำลองเหตุการณ์ตามตำนานการกวนเกษียรสมุทรของศาสนาฮินดู โดยเทพมีทั้งหมด 50 ตนอยู่ทางซ้ายมือ และมีอสูรทั้งหมด 54 ตนอยู่ทางขวามือ

ยอดปราสาทรูปพระพักตร์พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ด้านบนปราสาทบายน

ใจกลางเมืองนครธมมี ปราสาทบายน (Bayon) มีอีกชื่อเรียกคือ ชัยคีรี (เรียกตามชื่อกษัตริย์ที่สร้างเสร็จ) สร้างขึ้นเพื่อเป็นศาสนสถานของศาสนาพุทธนิกายมหายาน ปราสาทหลังนี้สร้างขึ้นโดยกษัตริย์หลายพระองค์ แต่องค์ที่ทำให้ปราสาทเสร็จสมบูรณ์นั้นคือพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 นอกจากจะเป็นศาสนสถานแล้ว ยังมีความสำคัญคือเป็นสถานที่ที่รับรรณาการจากแคว้นต่างๆ มาส่งที่นี่ ก่อนเข้าถึงในตัวปราสาทนั้น พบระเบียงคดสลักเรื่องราวการรบในยุคสมัยที่เมืองจามมาตี ทั้งยังมีประติมากรรมรูปพระพักตร์ของพระโพธิสัตว์หรือพระพักต์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่ยอดปราสาทรวมทั้งหมด 54 ยอด รวมทั้งสิ้น 216 พระพักตร์

ปรสาทตาพรหม ความลงตัวระหว่างธรรมชาติและสถาปัตยกรรม

เมื่อออกจากนอกนครธมแล้ว ชาวคณะมุ่งหน้าไปยัง ปราสาทตาพรหม (Ta Prohm) เป็นสถาปัตยกรรมแบบพุทธมหายาน สร้างโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ถวายแด่พระมารดา ปราสาทตรงกลางเป็นที่เก็บพระศพพระมารดาของพระองค์ ใช้เวลาสร้าง 6 ปี ปราสาทมียอดทั้งหมด 36 ยอด มีต้นไม้เก่าแก่ที่แผ่รากปกคลุมปราสาท ทำให้ดูสวยงามและมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น แม้จะเป็นปราสาทที่ยังคงสภาพปรักหักพัง ที่ยังไม่ได้บูรณะให้เสร็จสมบูรณ์ แต่ก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่นักท่องเที่ยวจะพลาดไม่ได้ ที่นี่เคยมีพระเถระจำพรรษาอยู่ถึง 300 รูป ทั้งยังขุดพบมงกุฎทองคำของกษัตริย์ พี่ไกด์ยังอธิบายเพิ่มเติมว่ามีห้องทุบอกอีกด้วย คือห้องที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มักจะมาทุบอกเพื่อลดความไม่สบายใจต่าง ๆ เป็นต้น

ถ่ายภาพหมู่รวมกันด้านหน้าก่อนข้ามสระน้ำเข้าไปด้านในปราสาทนครวัด

ปราสาทนครวัด (Angkor Wat) เป็นศาสนสถานที่สุดท้ายของวัน ซึ่งถือเป็นไฮไลท์ของทริปนี้เลยก็ว่าได้ เนื่องจากปราสาทนครวัดนั้นเป็นศาสนสถานที่มีความสวยและใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งยังเป็นหนึ่งใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกอีกด้วย โดยปราสาทนครวัดนี้สร้างขึ้นพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 (Suriyavarman II) เพื่อเป็นที่พักพิงสุดท้ายของพระองค์และเพื่อรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งกับพระวิษณุ ปราสาทแห่งนี้จึงหันหน้าไปทิศตะวันตก แตกต่างจากปราสาททั่วไปที่มักหันหน้าไปทางทิศตะวันออก โดยมียอดปราสาททั้งหมด 9 ยอด ยอดตรงกลาง 5 ยอด และมีอีก 4 ยอดอยู่ล้อมรอบ โดยจุดประสงค์ในการสร้างนั้น เพื่อจำลองเป็นเขาพระสุเมรุ ที่ที่เป็นศูนย์กลางของจักรวาล เป็นที่อยู่ของเทพพระเจ้า โดยมีสะพานนาคราชเป็นทางเข้าสู่ประตูสวรรค์ ซึ่งเป็นนาคสองตัวที่ถือว่ามีความสมบูรณ์มากที่สุด

พักเหนื่อยจากการเดินดูภาพสลักที่ยาวนับกิโลของระเบียงคตชั้นที่หนึ่ง

เมื่อเดินเข้าไปยังตัวปราสาทนั้นจะพบเจอระเบียงคดซึ่งซ้อนกันถึงสามชั้น ชั้นแรกสุดหรือนอกสุด เต็มไปด้วยภาพแกะสลักเรื่องราวต่างๆ ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควรในการศึกษา เช่น เรื่องมหาภารตะ เรื่องราวการเกษียรสมุทรของเหล่าเทพและอสูร เรื่องราวการเดินทางไปสู้รบกับพวกจามของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 มีการสื่อถึงพิธีกรรมและประเพณีต่างๆ ในระหว่างการรบ และยังมีการเล่าเรื่องราวความเชื่อเกี่ยวกับนรกและสวรรค์ นอกจากนี้แล้วพวกเรายังได้ดื่มด่ำบรรยากาศความน่าหลงใหลในอารยธรรมของขอมโบราณโดยการพิชิตชั้น 3 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดที่มียอดห้ายอดของปราสาทนครวัด และดื่มด่ำกลิ่นอายของความขลังอย่างการที่ได้ชมการทำพิธีกรรมทางศาสนาของคนปัจจุบันในตัวปราสาทอีกด้วย อาจารย์บอกว่าพวกเราโชคดีที่มาช่วงโลซีซั่นเพราะไม่ต้องต่อคิวยาวมากในการขึ้นสู่ยอดสูงสุดของปราสาทและโชคดีที่ปัจจุบันทุกคนสามารถขึ้นไปสู่ยอดด้านบนได้ เพราะในสมัยโบราณนั้นคนที่จะขึ้นได้คือพราหมณ์หรือพระมหากษัตริย์เท่านั้น


วันที่สาม 12 กรกฎาคม 2562 

เป็นวันสุดท้ายของการสำรวจศึกษานอกสถานที่ ณ ประเทศกัมพูชา รับประทานอาหารเช้าและออกเดินทางจากโรงแรมในเวลา 8.00 น. ระหว่างทางมุ่งหน้าไปยังสถานที่แรก สองข้างทางเต็มไปด้วยผู้คนและสิ่งใหม่ๆ น่าสนใจมากมาย ความสวยงามของตึก ร้านอาหาร โรงเรียน การจราจรที่เราไม่เคยเห็นทำให้รู้สึกค่อนข้างตื่นตาและประทับใจเป็นพิเศษ

นิทรรศการบอกเล่าประวัติศาสตร์ในช่วงที่เขมรแดงครองเมือง

จากนั้นมาถึงสถานที่แรกของวันนี้ วัดใหม่ (Wat Thmei) หรือที่เรียกกันอย่างเป็นที่รู้จักว่า ‘ทุ่งสังหาร’ ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีความทรงจำในประวัติศาสตร์เกี่ยวกับยุคเขมรแดงที่เข้ามาปกครองประเทศในระหว่าง ค.ศ.1975-1979 (พ.ศ. 2518-2522) ซึ่งวัดใหม่นี้เป็นพื้นที่สำหรับทิ้งศพของเหล่าปัญญาชนและชาวเมืองมากมายที่ถูกสังหารในสมัยเขมรแดง ภายในวัดมีภาพถ่ายและรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ในสมัยนั้นให้เป็นตัวอย่าง ทั้งยังมีโครงกระดูกของผู้เสียชีวิตที่เก็บรวมรวมไว้ภายในสถูปที่ทำเป็นกระจกใสให้เห็นอย่างชัดเจน การที่ได้มาเรียนรู้ประวัติศาสตร์อีกด้านหนึ่งของมนุษยชาติร่วมโลกและศึกษาจากสถานที่จริง ทำให้รู้สึกเข้าใจ เข้าถึง และหดหู่ในเวลาเดียวกัน

บารายตะวันตก (West Baray)

ออกจากที่นี่พวกเราเดินทางไปยัง บารายตะวันตก (West Baray) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่สร้างด้วยน้ำมือมนุษย์ เป็นหนึ่งในสองของบารายที่ใหญ่ที่สุดในเมืองเสียมเรียบ เสียดายที่ตื้นเขินจนมองไม่เห็นเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะบารายตะวันออกส่วนพื้นน้ำของบารายหายไปจนหมดสิ้น เหลือเพียงบางส่วนของบารายตะวันตกที่หลงเหลือให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ และระบบจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพและน่าทึ่งของคนเขมรโบราณในยุคเมืองพระนคร ไกลออกไปกลางเกาะยังเป็นที่ตั้งของ ปราสาทแม่บุญตะวันตก (West Mebon) ซึ่งอยู่ระหว่างการบูรณะปฏิสังขรณ์

หลังจากนั้นพวกเราเดินทางไปยัง ตลาดเก่า (Old market) เพื่อแวะซื้อของที่ระลึก ของฝาก กลับยังประเทศไทย ตลาดแห่งนี้มีสินค้าที่หลายหลาย แต่ละร้านมีสินค้าทั้งเหมือนและแตกต่างกันออกไป ซึ่งสิ้นค้าแต่ละอย่างนั้นแสดงถึงเอกลักษณ์ความเป็นกัมพูชาได้เป็นอย่างดี ราคามีตั้งแต่หลักร้อยจนหลักพัน สามารถเลือกซื้อได้ตามอัธยาศัย แต่ควรระมัดระวังไม่ซื้อเครื่องดนตรีที่มีพวกหนังสัตว์เป็นส่วนประกอบ เพราะจะถูกยึดเมื่อเดินทางเข้าฝั่งไทยแล้ว พวกเราใช้เวลาที่นี่ประมาณหนึ่งชั่วโมง จากนั้นแวะรับประทานอาหารกลางวันที่ Tonle Sap restaurant ก่อนจะออกเดินทางกลับและถึงด่านชายแดนในเวลาประมาณบ่ายสองโมง และกลับถึงมหาวิทยาลัยขอนแก่นประมาณ 21:40 น.

ภาพถ่ายหมู่ที่ด้านหน้าปราสาทบายน กลางเมืองนครธม

การที่พวกเราได้มีส่วนร่วมในโครงการสำรวจและเก็บข้อมูลภาคสนามพื้นที่กัมพูชา ประจำปีการศึกษา 2562 ครั้งนี้ ทำให้ได้รับความรู้รวมทั้งประสบการณ์ต่างๆ มากมาย อาทิเช่น ขั้นตอนวิธีการผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง การข้ามประเทศ อัตราการแลกเปลี่ยนเงินตรา การใช้ภาษา รวมไปถึงประวัติความเป็นมาของสถานที่แต่ละแห่งที่ได้ไปเยี่ยมชมอย่างละเอียด ซึ่งเป็นการเปิดโลกกว้างสร้างมุมมองใหม่ๆ ให้แก่นักศึกษาที่มีส่วนร่วมให้ครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นด้าน สังคม ศาสนา และ วัฒนธรรมที่สำคัญ ณ ประเทศกัมพูชาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่น่าศึกษา เรียนรู้ และเป็นประโยชน์แก่นักศึกษา สามารนำข้อมูลที่ได้ไปศึกษาหรือสานต่อได้ในอนาคต ทั้งด้านการวิเคราะห์ สังเคราะห์ และวิจัย เกี่ยวกับประเทศต่างๆ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป










































ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น