วันอาทิตย์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2561

การอพยพครั้งใหญ่และปัญหาสิทธิมนุษยชนของ "ชาวโรฮิงญา"

ที่มาภาพ: https://gdb.voanews.com/
การอพยพของชาวโรฮิงญาจากรัฐยะไข่ ประเทศพม่า เพื่อลี้ภัยจากความรุนแรงที่เกิดขึ้น นำมาสู่การเปิดทางให้กับขบวนการค้ามนุษย์ ที่ใช้โอกาสนี้ลักลอบพาชาวโรฮิงญาเข้าไปประเทศที่สาม และกลายเป็นปัญหาสิทธิมนุษยชนที่ทั่วโลกให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง


โรฮิงญา (Rohingya) คือชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในบริเวณทางตอนเหนือของรัฐอาระกัน (Arakan) หรือรัฐยะไข่ในประเทศพม่าปัจจุบัน ซึึ่งมีเขตพื้นที่ติดกับประเทศบังคลาเทศ ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม นิกายซุนนีย์ สายฮะนะฟีย์ และใช้ภาษาของตัวเองที่เรียกกันว่า "โรฮิงญา" โดยนักวิชาการบางท่านบอกว่าพวกเขาเป็นกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่มานานแล้วหรือเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่มีอยู่ในรัฐยะไข่ตั้งแต่ต้น ในขณะที่นักประวัติศาสตร์หลายคนกล่าวว่า พวกเขาเป็นผู้อพยพมาจากเบงกอลในช่วงที่อังกฤษปกครอง และบางส่วนก็มาในช่วงที่พม่าได้รับเอกราช และอีกช่วงหนึ่งคือสงครามกลางเมืองในบังคลาเทศ

ชาวมุสลิมได้เข้ามาอยู่อาศัยในอาระกัน ตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 แต่จำนวนนั้นไม่สามารถระบุได้แน่ชัด หลังจากสงคราม Anglo-Burmese ในปี 1826 ทำให้พม่าต้องสูญเสียดินแดนชายฝังตะวันตกให้กับอังกฤษ ซึ่งก็ได้เข้าปกครองอาระกัน และอพยพผู้คนจากเบงกอลเข้ามาใช้แรงงาน ทำให้จำนวนประชากรของมุสลิมคิดเป็นร้อยละ 5 ของชาวอาระกันในขณะนััั้น (1869) แต่หลังจากนั้นไม่นานจำนวนประชากรโรฮิงญาก็ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตามบันทึกสำมะโนประชากรของอังกฤษระหว่างปี 1872 และ 1991 ได้ระบุว่าจำนวนประชากรมุสลิมในรัฐยะไข่เพิ่มขึ้นจาก 58,255 คนเป็น 178,646 คน

และในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เกิดความรุนแรงระหว่างกองกำลังมุสลิมที่อังกฤษติดอาวธุให้กับกองกำลังชาวยะไข่พื้นเมือง ทำให้ความขัดแย้งเพิ่มสูงขึ้น ในปี 1982 นายพลเนวิน ได้ทำรัฐประหารสำเร็จและปฏิเสธความเป็นพลเมืองพม่าของชาวโรฮิงญา

ที่มารูป: https://www.tcijthai.com/
เหตุการณ์นี้ทำให้รัฐบาลพม่าและชาวรัฐยะไข่ที่เป็นชาวพุทธ ไม่ได้ให้การยอมรับชาวโรฮิงญาว่าเป็นคนท้องถิ่น พวกเขาเชื่อว่าโรฮิงญาเป็นชาวบังคลาเทศที่เข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมายในสมัยที่พม่าตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษ ทำให้ชาวโรฮิงญาไม่ได้รับการรวมเข้าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งใน 135 กลุ่มของพม่า ส่งผลให้ไม่ได้รับสัญชาติพม่า จนต้องกลายเป็นคนต่างด้าวในบ้านเกิดของตน และไม่ได้รับความคุ้มครองใดๆ จากรัฐบาลพม่า จนอาจนับได้ว่าชาวโรฮิงญาเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีความเป็นอยู่ที่เลวร้ายที่สุดในพม่า

ในระหว่างปี 2012 ชาวโรฮิงยาปะทะกับกลุ่มชาตินิยมชาวยะไข่ ถูกทำร้ายจนเสียชีวิตบนรถประจำทาง หลังจากมีข่าวลือถึงหญิงชาวยะไข่ถูกข่มขืนโดยชาวโรฮิงญา ความรุนแรงก็ได้ขยายไปในหลายพื้นที่ของรัฐยะใข่และในประเทศพม่า เนื่องจากเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของพม่าไม่ได้มีความพยายามมากพอที่หยุดความรุนแรงก่อนที่จะเกิดการใช้ความรุนแรงที่มุ่งโจมตีและทำร้ายชาวโรฮิงญาของกลุ่มชาตินิยมยะไข่ ทำให้คนกว่า 125,000 คน กลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในรัฐยะไข่ ส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญา และทำให้มีการอพยพออกจากประเทศพม่าเป็นจำนวนมาก

และเมื่อวันที่ 25 สิงหาคมในปีที่ผ่านมา (2017) ชาวโรฮิงญาไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ หรือคนแก่ ต้องอพยพหนีความตายไปยังประเทศบังกลาเทศ จากวันละไม่กี่ร้อย เพิ่มขึ้นเป็นวันละหลายหมื่นคน หลังจากที่เกิดเหตุการณ์กองกำลังติดอาวุธของกลุ่มโรฮิงญาที่เรียกตัวเองว่า "กองทัพปลดปล่อยโรฮิงญาแห่งอาระกัน หรือ อาร์ซา (ARSA)" ได้เข้าโจมตีค่ายทหาร และสถานีตำรวจพม่า 30 แห่ง เป็นเหตุให้ทางการพม่าออกมาโต้กลับ ด้วยการออกมาปราบปรามโดยการใช้ความรุนแรง ชาวโรฮิงญาหลายแสนคนจึงต้องหนีภัยออกจากพม่าอย่างต่อเนื่องไปยังประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงอย่างบังกลาเทศ   

ด้วยเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นก็ไม่ใช่ว่าพึ่งจะเกิดขึ้น หากแต่เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้วแต่ไม่รุนแรงเท่ากับครั้งนี้ จนทำให้คนต่างชาติให้ความสนใจ จากเหตุที่คนโรฮีงญาต้องหาทางเอาชีวิตของตัวเองพร้อมทั้งครอบครัวออกจากสถานการณ์ที่เสี่ยงต่ออันตรายที่จะเกิดขึ้นนั้น แม้ว่าจะไม่อยากทิ้งบ้านเกิดของตนสักเท่าไร ด้วยความผูกพัน ความรักในสถานที่แห่งนั้น มีใครบ้างที่อยากจะจากที่ที่ตัวเองเคยใช้ชีวิต คุ้นเคย และแน่นอนว่าการที่จะออกไปที่อื่นนั้นก็ไม่สามารถที่จะบอกได้อย่างเต็มที่ว่าจะดีกว่าที่ที่เราเคยอยู่ และถึงแม้จะดีกว่าแต่ก็ต้องแลกมาด้วยบางอย่างเช่นกัน แต่เมื่อสถานการณ์บีบบังคับให้ต้องเป็นไปก็ต้องออกไปจากถิ่นที่อยู่ดั้งเดิม มีการปรับตัวให้เขากับที่ที่ไม่คุ้นเคย บางคนยังถูกนำไปค้าแรงงาน เป็นสินค้าของกลุ่มค้ามนุษย์ เนื่องจากอาศัยจังหวะที่คนโรฮิงญาเดือดร้อน หรือไม่มีทางเลือก จึงเปิดโอกาสให้คนกลุ่มนี้สามารถเข้ามาหาผลประโยชน์ได้อย่างง่ายดาย
ที่มา: https://www.isranews.org/
       
อย่างที่เราได้ติดตามข่าวสารต่างๆ ที่ผ่านมา คงพอทำให้เห็นว่ากลุ่มค้ามนุษย์ข้ามชาติ นั้นทำงานกันเป็นขบวนการ โดยมีคนที่เกี่ยวข้องที่เป็นทั้งชาวไทย ชาวมาเลเซีย ชาวพม่า และชาวโรฮิงญาเอง ซึ่งการที่จะพาชาวโรฮิงญามาจากประเทศพม่านั้น ต้องผ่านทางทะเล ส่วนรูปแบบนั้นจะส่งเรือขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่สัญชาติไทยบรรทุกคนได้ประมาณ 100-500 คน ล่องจาก จังหวัดระนอง ข้ามน้ำข้ามทะเลผ่านน่านน้ำไทยไปรับชาวโรฮิงญาจากท่าเรือในบังกลาเทศและพม่า ก่อนจะถูกนำไปขึ้นเรือใหญ่สัญชาติไทยที่จอดรออยู่กลางทะเล แล้วนำตัวไปกักขังไว้ที่แคมป์ โดยเชื่อว่าในส่วนของแคมป์หรือที่พักในป่านั้นอาจจะมีไม่ต่ำกว่า 10 แคมป์ ส่วนใหญ่เป็นแคมป์ ที่มีลักษณะชั่วคราวกึ่งถาวร พบว่าสร้างกระจัดกระจายตั้งแต่ จังหวัดสตูล สงขลา จนถึงนราธิวาส โดยมักตั้งแคมป์อยู่ใกล้กับชายแดนประเทศมาเลเซีย

แน่นอนว่าอาจจะมีเบื้องหลังที่โหดร้ายแอบซ่อนอยู่ ไม่ว่าจะเป็น การเรียกค่าไถ่ การทำร้ายร่างกายหรือแม้แต่จิตใจ และที่หนักที่สุดคือ การสังหาร ชาวโรฮิงญาบางคนที่ถูกหลอกพามาจากพม่าเข้ามาที่ไทยหากใครมีญาติที่อยู่ในประเทศไทยพวกเขาก็จะถูกไถ่ตัวไป แต่ถ้าญาติของใครที่ไม่ยอมมาไถ่ตัวคนนั้นก็จะถูกฆ่าทิ้ง ส่วนคนที่ไม่มีญาติก็จะถูกกักขังไว้ เพื่อรอส่งขายไปที่ประเทศมาเลเซีย โดยค่าหัวที่ถูกขายไปจะตกหัวคนละ 2-3 แสน และล่าสุดมีการพบจุดฝังศพชาวโรฮิงญาในประเทศไทย ที่อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา มีการคาดการว่าน่าจะเป็นจุดพักอีกจุด

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง
ที่มาภาพ https://f.ptcdn.info/
เหตุการณ์นี้ดึงดูดความสนใจจากทั่วโลก โดยเฉพาะ การใช้ชีวิตอยู่บนเรือที่เร่ร่อนไปเรื่อยๆ โดยไม่ทราบชะตากรรมของชาวโรฮิงญานับหมื่นๆ คน ที่ต้องหลบหนีออกมาจากบ้านเกิดของตัวเองเนื่องจากการเข้าปราบปรามของทางการพม่า จนต้องลี้ภัยไปยังประเทศใกล้เคียงอย่างบังกลาเทศ และหาทางไปยังประเทศที่สามอย่างมาเลเซีย โดยระหว่างทางก็จะมีการเข้ามาพำนักที่ไทยก่อน และเป็นการเปิดทางให้กับกลุ่มค้ามนุษย์ข้ามชาติ เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์

ส่วนกลุ่มคนที่ลี้ภัยเข้าไปในบังคลาเทศนั้นมีจำนวนมากเกินที่รัฐบาลบังคลาเทศจะดูแลได้ ถึงแม้จะมีการขยายที่พักผู้ลี้ภัยเพิ่ม แต่จำนวนคนก็ยังคงเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา จนต้องมีการเจรจากันอย่างเป็นทางการกับรัฐบาลพม่าเรื่องที่จะส่งชาวโรฮีงญากลับประเทศ ส่วนประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ก็มีการให้ความช่วยเหลือชาวโรฮิงญาส่วนหนึ่ง แต่มีเงื่อนไขที่ว่าสามารถให้พำนักอยู่ในประเทศได้เพียงปีเดียวเท่านั้น

และแน่นอนว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ทุกประเทศกำลังจับจ้องการแก้ไขปัญหาของพม่าต่อเหตุการณ์นี้ว่าจะสามารถแก้ไขได้หรือไม่ มันเหมือนเป็นการกดดันพม่าทางหนึ่ง ทำให้พม่ารออกมาประกาศแล้วว่าจะรับคนโรฮิงญาคืนกลับสู่พม่าเหมือนดังเดิม



 ข่าวนี้ที่ทำให้เราได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับชาวโรฮิงญาที่ได้อพยพเข้าไปยังประเทศบังคลาเทศ และรัฐบาลบังคลาเทศได้มีการเจรจาส่งชาวโรฮีงญากลับพม่า
ที่มาคลิป https://www.youtube.com/

ปัญหาของชาวโรฮิงญาได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นชนกลุ่มน้อยที่ไม่ได้รับการยอมรับในบ้านเกิดตนเอง และกลายเป็นเหยื่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุดอีกกลุ่มหนึ่ง แม้ว่าเมื่อเร็วๆ นี้พวกเขาจะได้รับการช่วยเหลือจากองค์กรต่างๆ ในต่างประเทศ ซึ่งส่วนมากเป็นประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม อีกทั้งรัฐบาลพม่ามีการประกาศว่าจะรับคนโรฮิงญากลับเข้าไปยังประเทศพม่าอีกครั้ง หลังจากถูกกดดันจากภายนอกอย่างหนัก แต่ก็ยังไม่มีกรอบของเวลาที่แน่นอน และชาวโรฮิงญาเองก็ยังไม่มีความแน่ใจว่าถ้าหากพวกเขากลับไปแล้วพวกเขาจะปลอดภัยเหมือนกับอยู่ที่ที่พักผู้ลี้ภัยหรือเปล่า ซึ่งแน่นอนว่าทางเลือกของพวกเขานั้นมีไม่มากนัก 

และถ้าหากว่าผู้อ่านมีความสนใจในข้อมูลก็สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากแหล่งข้อมูลเหล่านี้

http://www.bbc.com/thai/
https://www.isranews.org/
http://www.naewna.com/
- http://www.bangkokbiznews.com/
- https://thaipublica.org/
- https://www.thairath.co.th/

อ้างอิง

เฉลา กาญจนา. (7 กุมภาพันธ์ 2556). แก้ปัญหาโรฮิงญา ด้วยหลักสิทธิมนุษยชน. สืบค้น 19 กุมภาพันธ์ - 2561, จาก http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/489261#sthash.7XC2SBjH.dpuf

อริยพร โพธิ์ใส .(2552) .โรฮีงญา กับการค้ามนุษย์ .สืบค้นเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2561, จาก http://www.senate.go.th/lawdatacenter/includes/FCKeditor/upload/Image/b/all/all14.pdf

นายศิววงศ์  สุขทวี.(2558).คนไร้รัฐในรัฐต่างชาติ.สืบค้น 28 มีนาคม 560,จาก http://ethesisarchive.library.tu.ac.th/thesis/2015

เอกชัย จั่นทอง (2558).ค้ามนุษย์ "โรฮิงยา" มหาศาลพันล้าน.สืบค้นจาก 28 มีนาคม 2561 จาก https://www.posttoday.com

naewna .(3 ตุลาคม 2560 ). เมียนมาเตรียมรับโรฮิงญากลับประเทศ. สืบค้นเมื่อ 2 มีนาคม 2561, จาก http://www.naewna.com/inter/295442


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น