วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

วัฒนธรรมการดื่มชาของชาวเมียนมา

ที่มา: https://parallelsandmeridians.com/
การเดินทางอันแสนยาวนานของชา ผ่านภูมิประเทศ ผู้คน ประเพณีและวิถีชีวิตที่แตกต่างกันทำให้ก่อเกิดวัฒนธรรมของการดื่มชาอันเป็นอัตลักษณ์และเปี่ยมล้นไปด้วยเสน่ห์อันน่าหลงใหล  "การดื่มชา" จึงไม่ได้จำกัดเฉพาะการลิ้มลองรสชาติเท่านั้น แต่ยังมีความผูกพันและเกี่ยวข้องกับการเพาะปลูก การเก็บเกี่ยวรวมถึงศิลปะในการชงชาที่มีมายาวนาน

เรียบเรียงโดย นันทนา หนาซุย


ชา มีบทบาทอย่างมากต่อวัฒนธรรมของชาวเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นการดื่มชาในชีวิตประจำวัน ดื่มชาเพื่อรักษาโรค หรือแม้แต่การดื่มชาเพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงฐานะ จนถึงปัจจุบันการดื่มชาได้แพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว ชาจึงเป็นเครื่องดื่มที่มีผู้บริโภคมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก

หากย้อนกลับไปเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 19 เจ้าอาณานิคมตะวันตกอย่างอังกฤษได้เข้ายึดครองดินแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายแห่ง โดยเฉพาะพม่าหรือเมียนมาร์ อังกฤษได้เข้ามากอบโกยทรัพยากรธรรมชาติมากมายมหาศาลของพม่าออกไปอย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่งทองคำ น้ำมันดิบ แก๊สธรรมชาติและไม้สักซึ่งเป็นของดีประจำแผ่นดิน ในช่วงนั้นเองที่อังกฤษได้มีการนำเอาวัฒนธรรมชาเข้ามาเผยแพร่ด้วย รวมถึงมีการเกณฑ์ชาวอินเดียเข้ามาใช้แรงงานซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ก็มีวิถีการดื่มชาเช่นกัน  ดังนั้นวัฒนธรรมการดื่มชาของชาวเมียนมาจึงมีอัตลักษณ์ของชาที่มาจาก อิทธิพลผสมระหว่างอินเดียโบราณและคนสมัยใหม่อย่างอังกฤษ นอกจากนี้สำหรับชาวเมียนมาร์เองก็ได้มีการพัฒนาวิธีการบริโภคชาขึ้นมาเอง ที่ไม่ใช่เพียงการดื่มชาเท่านั้นแต่เป็นการกินใบชาแห้งนั่นเอง

ที่มา:https://www.mmtimes.com/

การปลูกชา ในประเทศพม่านิยมปลูกมากบริเวณที่ราบสูงในเขตรัฐฉาน แน่นอนว่าในพื้นที่รัฐฉานส่วนมากเป็นชาวไทใหญ่ซึ่งทำการเพาะปลูกใบชามานานแล้ว  ตามประวัติศาสตร์จีนยุคราชวงศ์หยวนของจักรพรรดิกุบไลข่านที่มีการยกทัพมาตีอาณาจักรพุกามและให้มีการส่งเครื่องราชบรรณาการเป็นเครื่องทอง 
แพรพรรณ และใบชาสู่นครหลวงในทุกครึ่งปี ชนพื้นเมืองไทใหญ่นี่เองที่รู้จักการกินและเคี้ยวใบชาแห้ง (ใบเมี่ยง) เช่นเดียวกับชาวสิบสองปันนาและยูนนาน

ชาวพม่าเป็นชนชาติที่มีทัศนคติที่ระมัดระวังต่อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เนื่องด้วยเป็นเมืองพุทธและมีความเคร่งครัดต่อศาสนาเป็นอย่างมาก ในช่วงที่พม่ามีการปิดประเทศทำให้เศรษฐกิจต่างๆ ซบเซา ประชาชนได้รับความเดือดร้อนมากมาย การดื่มชาในพม่าจึงเป็นวิธีหนึ่งในการบรรเทาความตึงเครียด ร้านชาจึงเปรียบเสมือนการทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางชุมชนในช่วงเวลาแห่งความสิ้นหวังและสงคราม ช่วงเวลานี้จึงได้กลายเป็นส่วนสำคัญในการก่อเกิดวัฒนธรรมการดื่มชาของชาวพม่าเพื่อเป็นการผ่อนคลายและแบ่งปันเสียงหัวเราะให้แก่กันและกัน

ที่มา: http://thestyleline.com
จนท้ายที่สุดก็มีการเปิดประเทศ พม่าให้เสรีภาพด้านต่างๆ รวมถึงด้านการท่องเที่ยวที่มีมากขึ้น เป็นผลให้ชาวโลกต่างเข้ามาเรียนรู้เกี่ยวกับอาหาร ชาและวัฒนธรรมของประเทศ เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พม่ามีวัฒนธรรมบนท้องถนนที่มองไปทางไหนก็เต็มไปด้วยร้านชาเล็กๆ นับไม่ถ้วน

ในสังคมตะวันตกอาจจะมองว่าการดื่มชาเป็นช่วงเวลาผ่อนคลายหรือกิจกรรมสำหรับคนที่มีความหรูราในชีวิต สังคมชาวญี่ปุ่นนับการดื่มชาเป็นศิลปะในการดำรงชีวิตเช่นเดียวกับคนจีนที่นิยมดื่มชาเป็นกิจวัตรประจำวันและดื่มชาในพิธีสำคัญๆต่างๆ แต่สำหรับชาวพม่าทุกชนชั้นสามารถเข้าถึงวิถีการดื่มชาได้โดยไม่ต้องอาศัยเวลาหรือกิจกรรมใดๆ

ชาวพม่านิยมพบปะพูดคุยกันในร้านน้ำชา ซึ่งเป็นร้านที่ไม่หรูหราเป็นเพียงเพิงใต้ร่มไม้ ชาวพม่านิยมดื่มชาร้อนทั้งใส่และไม่ใส่นม คู่กับซาโมซา และ อิ่วจาก๊วย ที่ร้านอาหารหรือร้านชาใดๆ ทันทีที่ลูกค้านั่งลง ถ้วยชาเล็กๆ จะได้รับบริการเป็นขั้นแรกต่อด้วยขนมปังนึ่งและขนมปังอินเดีย ร้านชาส่วนใหญ่เปิดให้บริการทุกวันจนถึงตอนดึกโดยมีสถานประกอบการเพียงไม่กี่แห่งที่เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

ที่มา:https://c-vietnam.com/
ความคลาสสิกของชาพม่าก็คือ ชานั้นจะ ผสมนมข้นหวานลงในชาดำ เพื่อให้มีรสชาติกลมกล่อมและไม่ขมฝาดจนเกินไป ทั้งนี้ชาพม่าก็ยังมีคุณประโยชน์มากมาย เช่น ดื่มชาเพื่อแก้กระหาย แก้ง่วง ต้านอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นภายในเซลล์ของร่างกาย ต้านเชื้อจุลินทรีย์ในลำไส้ นอกจากนี้ยังป้องกันตับจากสารพิษในร่างกายอีกด้วย

ชาวพม่านิยมดื่มชามากกว่ากาแฟ ชาที่ดื่มมักเป็นชาร้อน ชาอัสสัม และดื่มกันเป็นประจำทั้งยามเช้าและยามเย็น ต่อเมื่อรู้สึกไม่สบายหรือเป็นไข้จึงหันมาดื่มกาแฟ เพราะชาวพม่าถือว่ากาแฟเป็นเครื่องดื่มสำหรับคนเจ็บป่วย และในภาษาพม่าจะมีเฉพาะคำว่าร้านน้ำชา ไม่มีคำเรียกสำหรับร้านกาแฟ ชาจึงนับเป็นเครื่องดื่มประจำชาติของชาวพม่า ก็ว่าได้

สำหรับท่านที่อยากสัมผัสและเรียนรู้วัฒนธรรมอาเวียน ขอเชิญมาพบกันได้ในงาน ASEAN FOOD AND CULTURE STREET FAIR 2018 เทศกาลอาหารและวัฒนธรรมอาเซียน 2 - 3พฤศจิกายน 2561 บึงสีฐาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ลงทะเบียนล่วงหน้าเพื่อรับของที่ระลึกได้ที่นี่  goo.gl/jVWR6b แล้วเจอกันนะคะ


อ้างอิง


The rich culture and tradition of tea in Myanmar.(2015). สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2561 , จาก: https://multiverseadvertising.com/the-rich-culture-and-tradition-of-tea-in-myanmar/



Drinking and Eating Burmese Tea.(2016). สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2561 , จาก: https://matcha-tea.com/matcha/drinking-and-eating-burmese-tea



Parallels and Meridians.(มมป.).The tea culture of Myanmar. สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2561 , จาก: https://parallelsandmeridians.com/tea-culture-myanmar/





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น