วันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2562

เจดีย์ทรงลังกา งามสง่าลายปูนปั้น แห่งวัดนางพญา ศรีสัชนาลัย

วัดนางพญา  โบราณสถานสำคัญแห่งหนึ่งของเมืองศรีสัชนาลัยที่ขึ้นชื่อว่ามีลวดลายปูนปั้น อันวิจิตรงดงามและประณีตที่สุดในประเทศไทย ความโดดเด่นของลวดลายปูนปั้นนี้ได้นำไปสู่การสร้างสรรค์ลวดลายเครื่องประดับทอง ที่รู้จักกันดีในนาม "ทองโบราณ ศรีสัชนาลัย" หรือ "ทองนางพญา แห่งเมืองศรีสัชนาลัย"


รายงานโดย นฤมล ฝากสระ

"การเรียนรู้นอกสถานที่ที่วัดนางพญา โบราณสถานที่อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์แห่งชาติศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา 428 333 แหล่งท่องเที่ยวตามประวัติศาสตร์ไทย (Historical Sites in Thai History) ทางหลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดขึ้นสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 3 วิชาเอกประวัติศาสตร์เพื่อการท่องเที่ยว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้เกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวตามยุคสมัยทางประวัติศาสตร์นอกสถานที่ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ผ่านการฝึกเป็นมัคคุเทศก์ และฝึกการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการท่องเที่ยว "

พวกเราเริ่มออกเดินทางจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นมุ่งหน้าไปที่อุทยานประวัติศาสตร์แห่งชาติศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เพื่อศึกษาและเยี่ยมชมวัฒนธรรมสุโขทัย โดยเริ่มต้นจากเมืองโบราณในเขตพื้นที่อำเภอศรีสัชนาลัยเป็นอันดับแรก เมืองศรีสัชนาลัย หรือ เมืองเชลียง เคยเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองมาก่อนการสถาปนาสุโขทัย และเป็นชื่อที่เรียกขานเคียงคู่กับเมืองสุโขทัยมาโดยตลอด และที่สำคัญเมืองนี้ยังขึ้นชื่อในการผลิตสังคโลกคุณภาพดี ที่ส่งออกไปขายยังเมืองจีนในสมัยสุโขทัยและต่อเนื่องจนถึงสมัยอยุธยา ทำให้เมืองศรีสัชนาลัยเป็นเมืองที่สำคัญแห่งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย 

เมื่อเดินทางมาถึงอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จุดทางเข้าที่ต้องซื้อตั๋วผ่านทาง คือ ประตูรามณรงค์ โดยทางอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยได้ให้ความอนุเคราะห์เข้าชมฟรีสำหรับหน่วยงานโดยเฉพาะสถานศึกษาที่ขออนุญาตเข้าชมมา เมื่อผ่านประตูเข้ามาแล้วจะมีจุดจอดรถราง คอยอำนวยความสะดวกสำหรับท่านที่ต้องการนั่งรถชมเมืองโดยรอบ มีวิทยากรบรรยายให้ด้วยแต่ต้องเสียค่ารถรางเพิ่ม 

ในบริเวณนี้มีป้ายแผนผังเมืองศรีสัชนาลัยแสดงที่ตั้งของวัดสำคัญต่างๆ รวมทั้งป้ายให้ข้อมูล อาจารย์ได้เกริ่นให้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีในเบื้องต้น เพื่อช่วยให้นักศึกษามีความเข้าใจภาพรวมของพัฒนาการศิลปะสุโขทัยมากยิ่งขึ้น จากนั้นจึงเดินไปยังโบราณสถานจุดแรกที่ใกล้ที่สุด คือ วัดนางพญา ซึ่งอยู่ใกล้กับกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออกตรงประตูรามณรงค์ ตั้งอยู่ในแนวเดียวกับวัดสวนแก้วและวัดเจ็ดยอด ที่อยู่ลึกลงไปทางด้านหลัง ทั้งหมดหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้

วัดนางพญา เป็นโบราณสถานที่อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์แห่งชาติศรีสัชนาลัยที่ขึ้นชื่อว่ามีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของลวดลายปูนปั้นที่งดงาม ปรากฏอยู่บนเจดีย์และวิหาร โดยน่าจะสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยและมีการต่อเติมบูรณะต่อเนื่องจนถึงสมัยอยุธยาตอนต้นหรือราวพุทธศตวรรษที่ 21 แต่ไม่มีหลักฐานระบุปีที่สร้างที่แน่นอน โบราณสถานแห่งนี้เป็นวัดขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในแนวแกนหลักของเมืองศรีสัชนาลัย จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นวัดที่มีความสำคัญแห่งหนึ่งในสมัยสุโขทัย แต่กลับไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างในพงศาวดารหรือเอกสารต่างๆ แต่มีคำบอกเล่าของคนในท้องถิ่นกล่าวว่าวัดแห่งนี้ สร้างขึ้นโดย นางพสุจเทวี ธิดาพระเจ้ากรุงจีน ซึ่งเป็นพระมเหสีของพระร่วง เมื่อครั้นเกิดไฟไหม้ขึ้น ทำให้เอกสารและพงศาวดารต่างๆ ถูกทำลายหมด จนทำให้ไม่เหลือหลักฐานใดๆ แต่หลักฐานทางโบราณคดีและศิลปกรรมที่พบส่วนใหญ่จะอยู่ในสมัยอยุธยาตอนต้น



องค์ประกอบทางศิลปกรรม

หากดูจากการสันนิษฐานจากรูปแบบที่สมบูรณ์ของวัดนางพญาจะเห็นได้ชัดว่าเป็นวัดที่มีขนาดใหญ่มากมีทั้งวิหาร เจดีย์ประธาน เจดีย์ราย และที่สำคัญมีพระอุโบสถที่มีใบเสมาคู่รอบล้อมพระอุโบสถ และอาณาเขตของวัดทั้งหมดถูกรอบล้อมด้วยกำแพงแก้วและกั้นส่วนของวิหารและพระอุโบสถ ทางเข้าเป็นซุ้มประตูย่อมุมที่เหลือแค่ส่วนกลาง ส่วนเครื่องบนพังไปหมดแล้ว



1. วิหาร เป็นวิหารขนาดใหญ่แบบทึบ มีผนังทั้งสี่ด้าน มีทั้งหมด 7 ห้อง ก่อด้วยศิลาแลง หลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผา คลุมไปถึงเสาระเบียงที่ตั้งเรียงอยู่นอกวิหาร ทั้งด้านหน้าและด้านหลังมีมุขยื่นออกมา มีบันไดขึ้นทั้งด้านหน้าและด้านหลังด้านล่ะสองข้าง ที่ผนังเจาะช่องแสงเป็นรูปกรงสี่เหลี่ยม เพื่อระบายลมและเป็นช่องให้แสงลอดเข้ามา ซึ่งได้รับความนิยมในช่วงที่เข้าสู่สมัยอยุธยาตอนต้น ผนังด้านนอกทางทิศใต้พบร่องรอยการประดับลวดลายปูนปั้น ที่สวยงาม และหลงเหลืออยู่ไม่มากนัก ทางอุทยานประวัติศาสตร์ได้สร้างหลังคาคลุมเพื่อป้องกันและอนุรักษ์ภาพปูนปั้นเหล่านี้จากการเสื่อมสลายโดยธรรมชาติให้นานที่สุด

2. เจดีย์ประธาน ตั้งอยู่หลังวิหาร เป็นเจดีย์ทรงระฆังตั้งอยู่บนฐานประทักษิณสูง องค์เจดีย์ประกอบด้วยฐานเขียง 3 ชั้นรองรับชั้นลูกแก้วอกไก่และมาลัยเถา 3 ชั้น องค์ระฆังเป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบลังกาเช่นเดียวกับวัดช้างล้อม ที่ตั้งอยู่ในแนวเดียวกันไปทางด้านหลัง มีชั้นบังลังก์สี่เหลี่ยมไม่มีเสาหาน ถัดขึ้นไปเป็นปล้องไฉนและปลียอด มีซุ้มยื่นออกมาสี่ด้านสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป ซุ้มด้านหน้ามีบันไดทางขึ้นไปสู่ภายในองค์เจดีย์ ซึ่งประดับด้วยลวดลายปูนปั้นและทำเป็นซุ้มพระพุทธรูปทั้งสี่ทิศ ปัจจุบันพระพุทธรูปทั้งสี่ทิศได้ชำรุดไปหมดแล้ว

3. เจดีย์ราย ตั้งอยู่ข้างกำแพงแก้วทางทิศเหนือของวัดและใกล้กับเจดีย์ประธาน มีจำนวน 2 องค์ตั้งอยู่ข้างกัน โดยมีลักษณะสถาปัตยกรรมคล้ายกับเจดีย์ประธาน แต่ไม่มีซุ้มยื่นออก 4 ทิศเหมือนกับเจดีย์ประธาน
4. พระอุโบสถ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกและด้านหลังของเจดีย์ประธาน มีกำแพงแก้วขนาดเล็กล้อมรอบ โดยเชื่อว่าสมัยก่อนห้ามไม่ให้ผู้หญิงเข้าในพระอุโบสถ พระอุโบสถมีขนาดเล็กกว่าวิหาร จากการสันนิษฐานลักษณะของสถาปัตยกรรมคาดว่า มีลักษณะคล้ายๆ กับวิหารคือ มีมุขด้านหน้าและด้านหลัง มีหลังคาคลุมลาดต่ำไปถึงเสาที่ตั้งนอกผนังพระอุโบสถ มีบันไดขึ้นทั้งด้านหน้าและด้านหลัง และมีใบเสมาหินคู่ล้อมรอบพระอุโบสถ


ประติมากรรมปูนปั้น

ลวดลายปูนปั้นบนผนังวิหารวัดนางพญา ถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญของวัดที่ทำให้ผู้เชี่ยวชาญสามารถสันนิษฐานระยะเวลาการสร้างวัดนางพญาได้ โดยศึกษาจากลวดลายเป็นรูปแบบการปั้นที่เริ่มต้นในสมัยสุโขทัยยุคที่ 3 เป็นการปั้นที่พัฒนาจากศิลปะสุโขทัยแบบบริสุทธิ์ มีความประณีต สวยงาม ประติมากรรมปูนปั้นที่ปรากฏส่วนใหญ่จะเป็นภาพแบบอุดมคติคือ การหลุดพ้นไปจากธรรมชาติ และลวดลายที่มีลักษณะเด่นคือ ลวดลายที่ทำเป็นรูปกึ่งมนุษย์กึ่งวานรกำลังวิ่ง ซึ่งรูปแบบลวดลายที่ปรากฏนั้นเป็นศิลปะแบบอยุธยาตอนต้นแล้ว


นอกจากนี้ยังมีลวดลายปูนปั้นต่างๆ ที่หลงเหลืออยู่บนศิลาแลง เช่น ลายรักร้อย ลายแข้งสิงห์ ลายเทพนม ลายพรรณพฤกษา ซึ่งเป็นลวดลายที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปกรรมล้านนาและจีนในช่วงสมัยอยุธยาตอนต้น  ลวดลายปูนปั้นเหล่านี้ให้แรงบันดาลใจให้ช่างฝีมือทองถิ่นนำไปเป็นต้นแบบในการทำลวดลายเครื่องประดับเงินและทอง ที่ขึ้นชื่อว่า "ทองโบราณ ศรีสัชนาลัย" กลายเป็นงานหัตถกรรมที่ขึ้นชื่อ และเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของจังหวัดสุโขทัย นับเป็นแหล่งรายได้สำคัญประการหนึ่งให้กับชาวอำเภอศรีสัชนาลัยในปัจจุบัน 

"การลงพื้นที่สำรวจภาคสนามในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่ทำให้ผู้ศึกษาได้รับความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และโบราณคดีในสมัยสุโขทัยเท่านั้น แต่ยังทำให้ผู้ศึกษาได้ตระหนักถึงความสำคัญของโบราณสถาน ในฐานะที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ดังนั้นเราควรหวนแหนและอนุรักษ์สมบัติของชาติที่บรรพบุรุษเราได้สร้างขึ้นมา เพื่อให้ลูกหลานเราได้ศึกษาต่อไป"

ข้อมูลเพิ่มเติม

เวลาทำการ :  08.00 น. - 17.00 น. (ทุกวัน)

อัตราค่าเข้าชม : ชาวไทย ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 20 บาท
                          ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท

ค่าบริการรถรางนำชม : ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 30 บาท

การเดินทาง : สามารถเข้าถึงอุทยานได้ 2 เส้นทาง
1. เริ่มต้นจากอำเภอเมือง ตามเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 เลี่ยงประมาณ 15 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 113 มาถึงสี่แยกสารจิตร แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1294 เข้าสู้อุทยานฯ รวมระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร
2. เริ่มต้นจากอำเภอเมือง ตามถนนนหมายเลข 101 ถึงอำเภอศรีสัชนาลัย ระยะทางประมาณ 68 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 1035 ผ่าหน้าโรงพยาบาลศรีสัชนาลัย ถึงสี่แยกสารจิต ระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 1294 รวมระยะทางทั้งหมด 122 กิโลเมตร




อ้างอิง

สุรศักดิ์. (2007.) วัดนางพญา ศรีสัชาลัย. สืบค้นเมื่อ 7 มีนาคม 2562. จาก http://oknation.nationtv.tv/blog/surasakc/2010/10/20/entry-2

thailandtourism. (2010.) วัดนางพญา. สืบค้นเมื่อ 7 มีนาคม 2562. จาก https://www.thailandtourismdirectory.go.th/th/info/attraction/detail/itemid/5427

ฐานข้อมูลมรดกโลกประเทศไทย. (2015.) วัดนางพญา บน ๔. 
สืบค้นเมื่อ 7 มีนาคม 2562. จาก http://heritage.onep.go.th/Thai-World-Heritage/TW






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น