วันจันทร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2562

ยลถิ่นปราสาทเปือยน้อย โบราณสถานเขมรในเขตอีสานตอนบน

ปราสาทเปือยน้อย โบราณสถานเขมรที่ได้ชื่อว่างดงามและใหญ่ที่สุดในภาคอีสานตอนบน หนึ่งในศิลปกรรมแห่งมรดกอารยธรรมเขมรโบราณที่ทิ้งร่องรอยสำคัญทางประวัติศาสตร์ให้เป็นประจักษ์พยานถึงความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมเขมรในอดีต ซึ่งครั้งหนึ่งเคยแผ่อิทธิพลเข้ามาครอบคลุมจนถึงดินแดนอีสานตอนบนของไทยในปัจจุบัน

                รายงานโดย วรุณ สมานเพชร

" การเรียนรู้นอกสถานที่แหล่งโบราณสถานเขมรปราสาทเปือยน้อย อำเภอเปือยน้อย จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา 428 333 แหล่งท่องเที่ยวตามประวัติศาสตร์ไทย (Historical Sites in Thai History) ทางหลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดขึ้นสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 3 วิชาเอกประวัติศาสตร์เพื่อการท่องเที่ยว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้เกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวตามยุคสมัยทางประวัติศาสตร์นอกสถานที่ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ผ่านการฝึกเป็นมัคคุเทศก์ และฝึกการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการท่องเที่ยว "

ภายหลังจากที่เราได้เดินทางไปศึกษาเยี่ยมชมโบราณสถานกู่แก้วเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สถานที่ต่อไปที่เราได้ไปศึกษาเรียนรู้ก็คือ ปราสาทเปือยน้อย ซึ่งเป็นศาสนสถานเขมรที่อยู่ห่างจากโบราณสถานกู่แก้วประมาณ 80 กิโลเมตร โดยโบราณสถานปราสาทเปือยน้อยแห่งนี้ เป็นศาสนสถานเขมรที่ได้ชื่อว่างดงามและใหญ่ที่สุดในดินแดนภาคอีสานตอนบนของไทย

ภาพรวมของปราสาทเปือยน้อย ซึ่งโดยรอบตัวปราสาทถูกล้อมรอบด้วยสระน้ำลักษณะรูปตัว C

ปราสาทเปือยน้อย หรือพระธาตุกู่ทอง ตั้งอยู่ที่บ้านหัวขัว ตำบลเปือยน้อย อำเภอเปือยน้อย จังหวัดขอนแก่น จากการสำรวจทางศิลปกรรมพบว่า ปราสาทเปือยน้อยแห่งนี้ เป็นปราสาทเขมรที่มีการผสมผสานรูปแบบทางศิลปกรรมระหว่างศิลปะเขมรแบบบาปวนและแบบนครวัด กำหนดอายุสมัยอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู นักประวัติศาสตร์ศิลปะบางท่านเสนอว่าโบราณสถานแห่งนี้เป็นศาสนสถานสืบเนื่องในลัทธิไวษณพนิกายที่เคารพบูชาพระวิษณุ หรือพระนารายณ์ เนื่องจากปรากฏภาพสลักที่บริเวณทับหลังของปราสาทประธานองค์กลางคือ ภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์ อย่างไรก็ตาม ศาสนสถานแห่งนี้ยังปราฏศิลปะสืบเนื่องในลัทธิไศวนิกายที่เคารพบูชาพระศิวะปนอยู่ด้วย เช่น ภาพอุมามเหศวร เป็นต้น


โคปุระ หรือทางเข้าปราสาท ที่เห็นในภาพคือโคปุระที่อยู่ทางด้านหลังของปราสาทเปือยน้อย

สำหรับทางเข้าตัวปราสาทหิน หรือโคปุระ จะมีทางเข้าเพียง 2 ทาง คือ ทางด้านหน้าปราสาท กับทางด้านหลังปราสาท ซึ่งจะแตกต่างจากปราสาทหินหลาย ๆ แห่งในพื้นที่อีสานใต้ ที่จะมีโคปุระอยู่ทั้ง 4 ด้านของตัวปราสาทหิน ส่วนบริเวณโดยรอบตัวปราสาทหินมีกำแพงแก้วล้อมรอบ ซึ่งกำแพงแก้วที่โบราณสถานแห่งนี้นั้นจะมีลักษณะพิเศษคือ เป็นกำแพงแก้วศิลาแลงที่ลักษณะเป็นรูปบัวหงายบัวคว่ำ อีกทั้งโดยรอบตัวกำแพงแก้วนั้น จะล้อมรอบด้วยสระน้ำที่มีลักษณะพิเศษคือเป็นสระน้ำรูปตัว C ล้อมรอบตัวปราสาทหิน ปราสาทเปือยน้อยแห่งนี้ยังปรากฏมีสระน้ำ หรือบารายขนาดใหญ่ที่อยู่ทางด้านหน้าของโบราณสถาน ซึ่งสอดคล้องกับคติการสร้างปราสาทหินในอารยธรรมเขมรโบราณ


กำแพงแก้วที่มีลักษณะเป็นรูปบัวหงายบัวคว่ำ

สระน้ำที่ล้อมรอบปราสาทในลักษณะรูปตัว C

โบราณสถานเขมรแห่งนี้ มีรูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นแบบปราสาท 3 หลังตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน ซึ่งถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการจัดแผนผังในปราสาทเขมร โดยมีการเน้นไปที่ปราสาทองค์กลางหรือปราสาทประธาน เพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานเทพที่สำคัญที่สุด ส่วนปราสาทบริวารรอบข้างนั้นใช้ประดิษฐานพระเทวีหรือเทพชั้นรอง


รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบปราสาท 3 หลังบนฐานเดียวกัน

ตัวปราสาททั้ง 3 หลังตั้งอยู่บนฐานเดียวกันที่เรียกว่าฐานไพทีที่สร้างด้วยศิลาแลง แต่ตัวปราสาทก่อด้วยอิฐ สำหรับส่วนที่ใช้ประดับลวดลาย เช่น ทับหลัง หน้าบัน เสาประดับกรอบประตู จะใช้หินทรายเป็นวัสดุหลัก เนื่องจากหินทรายมีคุณสมบัติที่สามารถสลักลวดลายลงไปได้งดงามกว่าวัสดุชนิดอื่น ๆ

ด้านในของบรรณาลัยมีศิลปวัตถุจำลองภาพเทพประจำทิศประทับนั่งเหนือสัตว์พาหนะ

ทางด้านหน้าของปราสาทประธานมี บรรณาลัย ที่ตั้งอยู่ทางขวาและหันหน้าเข้าสู่กลุ่มปราสาท สร้างไว้สำหรับเก็บพระคัมภีร์หรือสิ่งของเครื่องใช้สำหรับประกอบพิธีกรรม และด้านหลังของบรรณาลัยบริเวณหน้าบันยังปรากฏภาพสลักเล่าเรื่อง อุมามเหศวร ซึ่งถือเป็นศิลปะสืบเนื่องในลัทธิไศวนิกาย


ศิลปกรรมชิ้นสำคัญที่พบ

1. ทับหลังรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ พบที่ปราสาทประธานองค์กลาง ทับหลังแสดงภาพพระวิษณุหรือพระนารายณ์ ประทับนอนเหนืออนันตนาคราช พระหัตถ์ขวาหนุนพระเศียร พระหัตถ์ที่เหลือถือสังข์และคฑา มีพระลักษมีประทับปรนนิบัติที่ปลายพระบาท และมีพระพรหมผุดขึ้นมาจากพระนาภี เป็นภาพขนาดใหญ่แต่เรียบง่าย ไม่มีรายละเอียดมากเหมือนภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่ปราสาทพนมรุ้ง

ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่ปราสาทประธานองค์กลาง

2. หน้าบันรูปอุมามเหศวร พบที่ด้านหลังของบรรณาลัย แสดงภาพพระศิวะประคองพระอุมาประทับนั่งอยู่บนหลังโคนนทิ โดยภาพสลักนี้ถือว่าได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในศิลปะเขมรแบบบาปวน ส่วนนาคที่ปลายกรอบหน้าบัน เป็นนาคห้าเศียรที่มีเครื่องประดับตกแต่งบริเวณศีรษะ ซึ่งเป็นลักษณะของนาคในศิลปะเขมรแบบนครวัด

หน้าบันรูปอุมามเหศวร เหนือทับหลังรูปบุคคลประทับนั่ง พบที่ด้านหลังของบรรณาลัย

3. ภาพสลักจำลองรูปเทพประจำทิศ พบในบรรณาลัย แสดงภาพเทพประจำทิศทั้งแปดทิศ ประทับนั่งเหนือสัตว์พาหนะตามคติศาสนาฮินดู ได้แก่ พระกุเวรทรงคชสีห์ ประจำทิศเหนือ พระยมทรงกระบือ ประจำทิศใต้ พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ประจำทิศตะวันออก พระวรุณทรงหงส์ ประจำทิศตะวันตก พระอิศานทรงโค ประจำทิศตะวันออกเฉียงเหนือ พระอัคคีทรงระมาด ประจำทิศตะวันออกเฉียงใต้ พระพายทรงม้า ประจำทิศตะวันตกเฉียงเหนือ พระนิรฤติทรงรากษส ประจำทิศตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งโบราณวัตถุที่เห็นในภาพนั้นเป็นของจำลอง ของจริงนำไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น


ศิลปวัตถุจำลองรูปเทพประจำทิศประทับนั่งเหนือสัตว์พาหนะ พบที่ด้านในของบรรณาลัย

ภาพรวมของโบราณสถานเขมรแห่งนี้ ทำให้ทราบได้ว่าบริเวณโดยรอบปราสาทเปือยน้อยมีพัฒนาการของผู้คนโบราณมาตั้งแต่ยุคสมัยอาณาจักรเขมรโบราณ หรืออาจจะปรากฏมีผู้คนอาศัยอยู่มาก่อนหน้านั้นแล้ว จนเมื่ออารยธรรมเขมรโบราณได้แผ่อิทธิพลเข้ามาจนถึงบริเวณภาคอีสานตอนบน จึงส่งผลให้ผู้คนบริเวณนั้นรับเอารูปแบบศิลปกรรมและศาสนาความเชื่อแบบฮินดูมาใช้ จนหลงเหลือหลักฐานสำคัญคือปราสาทหินแห่งนี้ ที่ทำให้เรารับรู้ได้ว่าอารยธรรมเขมรโบราณไม่เพียงแต่ส่งอิทธิพลมาเฉพาะในดินแดนอีสานใต้ของไทย แต่ยังได้ส่งอิทธิพลเรื่อยมาจนครอบคลุมบริเวณดินแดนอีสานตอนบนของไทยในปัจจุบัน

" การลงพื้นที่สำรวจภาคสนาม ไม่เพียงแต่จะทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์และศิลปกรรมจากพื้นที่จริงเพียงอย่างเดียว แต่ยังทำให้ผู้เรียนได้มีโอกาสฝึกประสบการณ์การนำเที่ยว การเป็นมัคคุเทศก์ และที่สำคัญก็คือการให้ผู้เรียนได้ตระหนักถึงความสำคัญของโบราณสถาน ในฐานะที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องร่วมกันหวงแหนและดำรงรักษาไว้สืบไป... "


ข้อมูลเพิ่มเติม

        ค่าใช้จ่ายเข้าชมโบราณสถาน: ไม่มี
        การเดินทาง: จากขอนแก่นใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 2 (ขอนแก่น-บ้านไผ่) ระยะทาง 44 กิโลเมตร เข้าทางหลวงหมายเลข 23 (บ้านไผ่-บรบือ) ไปอีกประมาณ 11 กิโลเมตร แล้วแยกขวาเข้าสู่อำเภอเปือยน้อยอีก 24 กิโลเมตร





แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

        ฐานข้อมูลโบราณสถานสำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. ปราสาทเปือยน้อย. ศูนย์ศึกษาศิลปกรรมโบราณในเอเชียอาคเนย์ คณะโบราณคดี. สืบค้นจาก http://www.archae.su.ac.th/
        คลังวิชาการ กรมศิลปากร. ปราสาทเปือยน้อย จังหวัดขอนแก่น. สำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น. สืบค้นจาก http://www.finearts.go.th/
















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น