วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2562

พระอจนะ วัดศรีชุม ตำนานพระพุทธรูปพูดได้แห่งเมืองสุโขทัย

อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เป็นหนึ่งในมรดกโลกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโก มีวัดต่างๆ ที่สำคัญมากมายทั้งในเมืองและนอกกำแพงเมือง ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ วัดศรีชุม วัดที่มีพระพุทธรูปที่สวยงามมากที่สุดองค์หนึ่งของสุโขทัย และมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยี่ยมชมไม่ขาดสาย ที่สำคัญยังมีตำนานพระพุทธรูปพูดได้ ที่ถือเป็นไฮไลท์ของวัดนี้


"การเรียนรู้นอกสถานที่ภายในวัดศรีชุม อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นส่วนหนึ่งในรายวิชา 428 333 แหล่งท่องเที่ยวตามประวัติศาสตร์ไทย (Historical Sites in Thai History) ทางหลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดขึ้นสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 3 เอกประวัติศาสตร์เพื่อการท่องเที่ยว  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้เกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวตามยุคทางสมัยประวัติศาสตร์นอกสถานที่ ถือได้ว่าเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ผ่านการฝึกเป็นมัคคุเทศก์ และการฝึกใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการท่องเที่ยว"

ในช่วงเช้าที่อากาศกำลังสบายๆ พวกเราเริ่มต้นการเดินทางด้วยการไปเยี่ยมชมวัดต่างๆ ที่อยู่รอบนอกกำแพงเมืองสุโขทัย โดยแวะเยี่ยมชมศูนย์กลางของเมืองเดิมที่วัดพระพายหลวงเป็นแห่งแรก จากนั้นจึงเดินทางไปวัดที่อยู่ใกล้ๆ กัน นั่นคือ วัดศรีชุม หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วัดปอยดำ ซึ่งตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ในเขตตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย วัดแห่งนี้เชื่อว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เนื่องจากมีการกล่าวถึงชื่อ พระอจนะ ในศิลาจารึกหลักที่ 1 

ด้านหน้าของวัดศรีชุม

ป้ายอธิบายความเป็นมาขอองวัดศรีชุม
ที่มา: http://topicstock.pantip.com/
ก่อนจะเข้าไปภายในอาณาเขตของวัดศรีชุม บริเวณด้านหน้าของวัดจะพบลานจอดรถสะอาด และกว้างขวาง เพื่อรองรับรถของนักท่องเที่ยว ทางเข้าของวัดจะมีป้อมเล็กๆ จำหน่ายบัตรเข้าชมโบราณสถาน และมีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังมีภาพสันนิษฐานมณฑปและวิหาร  เพื่อแสดงให้เห็นสภาพที่สมบูรณ์หลังการบูรณะ และป้ายที่กล่าวถึงประวัติความเป็นมา และความสำคัญของวัดศรีชุมพอสังเขป ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมทั้งถัดไปอีกประมาณ 50 เมตร จะมีห้องน้ำคอยให้บริการ มีร้านค้าขายภาพศิลปะและของที่ระลึกต่างๆ และหากเรามองเข้าไปภายในวัดจะเห็นวิหารที่เหลือแต่เสาหิน และมณฑปรูปทรงแปลกตาตั้งตระหง่านอยู่ตรงหน้า และสามารถมองเห็นพระพักตร์ของพระอจนะ พระพุทธรูปที่มีชื่อเสียงและสวยงามได้อย่างชัดเจน ชวนให้จินตนาการไปไกลว่าเมื่อแรกสร้างเสร็จสมบูรณ์จะมีความงดงามมากเพียงใด

ภาพสันนิษฐานมณฑปและวิหาร กรมศิลปากร
ที่มา: http://topicstock.pantip.com/
ประวัติวัดศรีชุม

สันนิษฐานว่าวัดศรีชุมสร้างขึ้นในสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ซึ่งตรงกับข้อมูลในศิลาจารึกหลักที่ 1 มีเนื้อความว่า "เบื้องตีนนอนเมืองสุโขทัยนี้...มีพระอจนะ มีปราสาท....." โดยพระประธานในมณฑปชื่อว่า พระอจนะ มีคูน้ำล้อมรอบวัด ซึ่งแสดงถึงอาณาเขตสังฆาวาส

ความหมายของวัดศรีชุม คำว่า ศรี  มาจากคำเรียกพื้นเมืองไทยเดิมว่า สะหลี  ซึ่งหมายถึง ต้นโพธิ์ ดังนั้น ศรีชุมจึงหมายถึง "ดงของต้นโพธิ์" แต่เมื่อสมัยอยุธยาตอนปลาย อาจมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนกันกับความหมายเดิม จึงเรียกวัดแห่งนี้ว่า ฤาษีชุม และในปัจจุบันสภาพแวดล้อมของวัดศรีชุม อาจทำให้เรามองไม่ออกว่าเคยเป็นดงของต้นโพธิ์มาก่อน เป็นเพราะว่าวัดศรีชุมมีอายุมาหลายศตวรรษ ต้นโพธิ์จึงไม่สามารถยืนต้นอยู่ได้ถึงปัจจุบันนั่นเอง

มณฑปและวิหารหลังเล็ก

เมื่อเข้าสู่อาณาเขตของวัด จะพบโบราณสถานสำคัญ 2 หลัง คือ วิหาร และมณฑป โดยที่วิหารตั้งอยู่ด้านหน้ามณฑป ซึ่งวัดแห่งนี้มีการวางผังที่แปลกไปจากวัดอื่นๆ คือ มีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ประดิษฐานเป็นประธานของวัดภายในมณฑป โดยที่มณฑปเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 32 เมตร สูง 15 เมตร ผนังหนา 3 เมตร และมีวิหารหลวง 6 ห้อง ต่อออกมาแบบที่เป็นที่นิยมในสมัยนั้น โดยปัจจุบันมีสภาพทรุดโทรม และปรักหักพัง เหลือเพียงฐานที่ก่อด้วยอิฐ และเสาที่ก่อด้วยศิลาแลง ส่วนหลังคาทำจากเครื่องไม้ สังเกตได้จากร่องรอยบนเสาที่ทำไว้เข้าไม้ต่างๆ โดยวิหารนี้ปรากฏในศิลาจารึกว่า เบื้องตีนนอน อยู่ทางทิศเหนือ จะมีพระพุทธรูปใหญ่ เบื้องหัวนอน จะอยู่ทางทิศใต้ นอกจากนี้ยังมีต้นมะม่วงขนาดใหญ่อยู่ด้านทิศเหนือของมณฑป มีอายุหลายทศวรรษ รวมทั้งมีมณฑปและวิหารหลังเล็ก อยู่ถัดมาจากมณฑปใหญ่


มณฑปรูปทรงแปลกตา

มณฑปแห่งนี้เรียกว่า ปฏิมาฆระ สร้างตามคติความเชื่อสมัยสุโขทัย ไม่ได้ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา นักโบราณคดีให้ความเห็นว่า สร้างขึ้นเพื่อจำลองเป็น พระคันธกุฎี คือ กุฏิที่ประทับของพระพุทธเจ้าในสมัยพุทธกาล ตัวมณฑปมีฐานสูง ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งขนาดใหญ่ ปางมารวิชัย หรือที่คนทั่วไปรู้จักกันดีในชื่อ พระอจนะ  ปัจจุบันเหลือแต่ผนังทั้ง 4 ด้าน โดยผนังแต่ละด้านก่ออิฐและโบกปูนอย่างแน่นหนา ส่วนหลังคานั้นได้ผุพังลงตามยุคสมัย สันนิษฐานว่าหลังคานั้นสร้างด้วยเครื่องไม้ มุงด้วยกระเบื้องดินเผา เนื่องจากพบเศษกระเบื้องตกอยู่บริเวณรอบๆ มณฑปแห่งนี้

ด้านหน้าของวัดศรีชุม

มณฑปที่ครอบองค์พระที่เราเห็นกันในปัจจุบันนี้สร้างขึ้นมาสมัยหลังกว่า สังเกตจากผนังบริเวณพระชานุ (เข่า) ของพระองค์นั้น เว้าหลบเข้าไป เนื่องจากองค์พระมีขนาดใหญ่กว่ามณฑป เพราะว่าหลังคาของมณฑปเป็นเครื่องไม้ ซึ่งน่าจะมีความยาวไม่พอนั่นเอง และด้วยสมัยนั้นยังไม่มีการสร้างช่องหน้าต่าง ตัวอาคารจึงต้องรองรับน้ำหนักของหลังคา ซึ่งมาลงที่ผนังนั่นเอง ในสมัยพระยาลิไทโปรดให้สร้างผนังอีกข้างให้ห่างจากผนังเดิม 1 เมตร 50 ซม. โดยช่องว่างให้ทำบันไดและอุโมงค์ขึ้นไปทางด้านหลังขององค์พระ ส่วนเพดานของผนังของอุโมงค์นี้โปรดให้แกะหินชนวนสลักเป็นเรื่องราวชาดก โดยการสร้างมณฑปที่มีผนังสองชั้นนั้นได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะโปโลนนารุวะของลังกา

มณฑป

พระอจนะ และตำนานพระพูดได้

พระอจนะ เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขนาดใหญ่ ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 11.30 เมตร สูง 15 เมตร สันนิษฐานว่าพระพุทธรูปองค์นี้มีความสำคัญต่ออาณาจักรสุโขทัยเป็นอย่างมาก เนื่องจากปรากฏอยู่ในศิลาจารึกหลักที่ 1 มีความหมายว่า "ผู้ไม่หวั่นไหว มั่นคง" หรือ "ผู้ที่ควรแก่การเคารพ กราบไหว้"

พระอจนะ ก่อนการบูรณะ
ที่มา: http://www.oknation.net/
มีเรื่องราวสุดอัศจรรย์ ที่ทำให้วัดแห่งนี้ถูกกล่าวถึง และเป็นที่มาของพระพุทธรูปพูดได้นั่นเอง โดยมีเรื่องเล่าว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงประกาศอิสรภาพจากพม่า ณ เมืองแครง ใน พ.ศ. 2127 ทำให้หัวเมืองต่างๆ ยกเลิกส่งส่วยให้พม่า แต่ยังมีเมืองเชลียง หรือเมืองสวรรคโลกยังคงภักดีและส่งส่วยให้พม่าเรื่อยมา พระองค์จึงได้นำทัพเพื่อที่จะไปตีเมืองเชลียง และมาพักที่วัดศรีชุมแห่งนี้ ในขณะที่ชุมนุมทัพอยู่นั้น เหล่าทหารไม่มีกำลังใจในการรบ เนื่องจากมีชาวสยามอาศัยอยู่ที่เมืองเชลียงเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ทหารเหล่านี้ไม่อยากรบกับชาวสยามด้วยกัน พระนเรศวรจึงออกกุศโลบายปลุกกำลังใจของทหาร ด้วยการให้ทหารนายหนึ่งขึ้นไปเปล่งเสียงผ่านทางด้านหลังของพระอจนะ เสมือนหนึ่งว่าพระพุทธรูปพูดได้ ทำให้ทหารฮึกเหิมและพร้อมรบที่จะรบ และนี่คือตำนานของพระพุทธรูปพูดได้ ซึ่งทำให้วัดศรีชุมได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก นอกจากนี้สมเด็จพระนเรศวรยังได้ทำพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาที่วัดแห่งนี้อีกด้วย

พระอจนะในปัจจุบัน
พระอจนะที่เห็นในปัจจุบันเป็นองค์ที่ได้รับการบูรณะครอบทับองค์เก่าที่ชำรุดผุพังเป็นอย่างมาก จนไม่สามารถเห็นเค้าโครงเดิม ตามหลักฐานระบุว่า วัดศรีชุมมีการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยพระยาลิไท และถูกทิ้งร้างปลายสมัยอยุธยา กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 9 ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งสำคัญ ตรงกับสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี และอาจารย์เขียน ยิ้มสิริ ได้มีการซ่อมแซมพระอจนะ ซึ่งยึดรูปแบบ วิธีการ และวัสดุโบราณ มีการซ่อมแซมพระอจนะใหม่ ตามแบบอย่างพระพุทธรูปสำริด ดังที่เห็นกันในปัจจุบัน

แกนในขององค์พระเดิมก่อด้วยอิฐและศิลาแลง และมีการบูรณะในภายหลัง โดยวัสดุที่สำคัญ คือ ปูนปั้น ตามเค้าโครงพระพุทธรูปสำริดรูปแบบศิลปะสุโขทัยที่อ่อนช้อย และงดงาม คือ พระเนตรหลบต่ำ เหนือพระพระเกศาเป็นรูปเปลวเพลิง และชายผ้าสังฆาฏิทอดยาวลงมาเป็นเขี้ยวตะขาบ และยาวเสมอพระนาภี ตามแบบของพระพุทธรูปหมวดใหญ่ซึ่งเป็นที่นิยมในสุโขทัย เดิมพระอจนะนั้นสร้างไว้กลางแจ้ง แต่เมื่อมีผู้ที่เคารพ ศรัทธา จึงมีการสร้างมณฑปครอบองค์พระในภายหลัง


อุโมงค์ที่บริเวณผนังมณฑป 

นิ้วพระหัตถ์ของพระอจนะ
มณฑปที่ครอบองค์พระ มีผนังหนาทั้งสองด้าน พบว่ามีอุโมงค์ทั้งด้านซ้ายและขวาของซุ้มประตูทางเข้า โดยที่ด้านซ้ายสามารถเดินทะลุไปถึงหลังองค์พระ รวมถึงทะลุออกถึงลานด้านบนได้ และตลอดทางเดินจะเป็นช่องแคบๆ พอคนเดินได้ ตามฝาผนังอุโมงค์มีภาพเขียนเก่าแก่ อายุกว่า 700 ปี นอกจากนี้เพดานภายในอุโมงค์ยังมีการสลักแผ่นหินชนวน จารเป็นภาพลายเส้น พร้อมตัวอักษรสมัยสุโขทัย ที่เล่าเรื่องราวชาดกต่างๆ 550 ชาติ รวม 50 กว่าแผ่น และแผ่นหินเหล่านี้ยังทำหน้าที่เป็นคานรับน้ำหนักอีกด้วย โดยผลงานทั้งหมดนี้ถือได้ว่าเป็นงานจิตรกรรมของไทยที่เก่าแก่ที่สุด แต่อุโมงค์ทางด้านขวานั้นปิดตาย ไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าไป และมีตำนานเล่าว่า หากผู้มีบุญเข้าไปในอุโมงค์ด้านนี้ และญาณกล้าพอจะไปทะลุที่ศรีสัชนาลัยได้ 

ลักษณะลายเส้นบนหินชนวน
ที่มา: http://www.oknation.net/

นอกจากนี้ยังพบศิลาจารึกหลักที่ 2 หรือศิลาจารึกวัดศรีชุม ภายในช่องอุโมงค์ของวัดแห่งนี้ พบโดยนายพลโทพระยาสโมสรสรรพการ เมื่อ พ.ศ. 2430  เป็นรูปใบเสมา กว้าง 62 ซม. สูง 285 ซม. หนา 8 ซม. ทำจากหินดินดาน สันนิษฐานว่าเป็นจารึกในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พระยาลิไท) ด้านที่หนึ่งจารึกอักษรไทยสุโขทัย ภาษาไทย มี 107 บรรทัด ด้านที่สองมี 95 บรรทัด มีอายุประมาณ พ.ศ. 1880-1910 โดยกล่าวถึงประวัติของอาณาจักรสุโขทัยในช่วงต้น ตั้งแต่ราชวงศ์แรก และความสัมพันธ์ด้านพุทธศาสนากับลังกา ซึ่งนับเป็นเอกสารชิ้นหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการศึกษาของไทย ปัจจุบันตั้งอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

ในปัจจุบันไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าไปในอุโมงค์ เนื่องจากใน พ.ศ. 2535 หรือประมาณ 27 ปีที่แล้ว มีนักท่องเที่ยวบางกลุ่ม ขูด ขีด และเขียนชื่อลงไปในภาพชาดกโบราณ ทำให้เกิดความเสียหายต่อโบราณวัตถุสถาน และเสียหายในทางประวัติศาสตร์ ประกอบกับด้านบนของมณฑปไม่มีรั้วกั้น เสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อนักท่องเที่ยว ทางอุทยานประวัติศาสร์สุโขทัยจึงทำประตูเหล็กปิดกั้นไม่ให้เข้าชมอุโมงค์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

พระอจนะ
วัดศรีชุมเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าอย่างมากต่อประเทศไทย มีการบูรณะมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความศรัทธา และยึดมั่นต่อพระพุทธศาสนามากเพียงใด นอกจากนี้พระอจนะยังมีชื่อเสียงในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ และเป็นมรดกตกทอดมาถึงปัจจุบันที่มีคุณค่า ทำให้ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติตลอดปี เพราะฉะนั้นเราควรช่วยกันดูแลรักษาและอนุรักษ์โบราณสถานแห่งนี้ไว้ให้สืบเนื่องตลอดไป 

การเดินทาง

จากตัวเมืองสุโขทัยมาตามทางหลวงหมายเลข 12 (สุโขทัย-ตาก) ระยะทางประมาณ 12 กม.
วัดศรีชุมเปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 06.00-21.00 น.
นักท่องเที่ยวชาวไทย 10 บาท  ชาวต่างชาติ 30  บาท
เหมาะกับนักท่องเที่ยวทุกเพศ ทุกวัย

ข้อมูลการติดต่อ

ที่อยู่: ถนนจรดวิถีถ่อง ตรงข้ามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง หมู่ 3 ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย 64120

เบอร์ติดต่อ: 0-5561-4304
อีเมล: sukhothai@moi.go.th
เว็บไซต์: http://www.info.ru.ac.th/province/Sukhotai/natssc.htm
Facebook: https://th-th.facebook.com/skt.his.park/


อ้างอิง

ทางแก้ว. (2557). พระอจนะใหญ่เต็มวิหาร วัดศรีชุมสุโขทัย. สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2562, จาก http://oknation.nationtv.tv/blog/baaf/2014/04/16/entry-1

มานพ ถนอมศรี. (2546). สุโขทัย อุทยานประวัติศาสตร์ มรดกโลก. กรุงเทพฯ: พี พี เวิลด์ มีเดีย จำกัด.

วรรณการญจน์ เอกฉันท์. (2545). อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย. กรุงเทพฯ: มาวิน เทรดดิ้ง จำกัด.

ศิริศักดิ์ คุ้มรักษา. (2546). เมืองประวัติศาสตร์ สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย. กรุงเทพฯ: แปลน รีดเดอร์ส.














ขอขอบคุณภาพจาก อาจารย์เวียงคำ ชวนอุดม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น