เรียบเรียงโดย วศินี นามมูล
"การเรียนรู้นอกสถานที่ที่วัดศรีสวาย ซึ่งเป็นหนึ่งในโบราณสถานที่ตั้งอยู่ภายในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา 428 333 แหล่งท่องเที่ยวตามประวัติศาสตร์ไทย (Historical Sites in Thai History) ทางหลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดขึ้นสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 3 เอกประวัติศาสตร์เพื่อการท่องเที่ยว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้เกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวตามยุคทางสมัยประวัติศาสตร์นอกสถานที่ ถือได้ว่าเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ผ่านการฝึกเป็นมัคคุเทศก์ และการฝึกใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการท่องเที่ยว"
วัดศรีสวาย เป็นศาสนสถานยุคก่อนสมัยสุโขทัย ตั้งอยู่ภายในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ห่างจากวัดมหาธาตุมาทางทิศใต้ ประมาณ 350 เมตร และได้รับการสันนิษฐานว่าในอดีตสร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวสถาน ซึ่งต่อมาภายหลังในช่วงสมัยเมืองสุโขทัยที่นี่ได้ถูกดัดแปลงให้เป็นวัดในพระพุทธศาสนาอย่างที่เห็นในทุกวันนี้
โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า เดิมวัดนี้คงมีชื่อว่า ศรีศิวายะ อันหมายถึงพระศิวะ (พระอิศวร) อีกทั้งยังเป็นชื่อที่มีความเชื่อมโยงกับศาสนาฮินดูอีกด้วย ซึ่งทำให้สามารถสันนิษฐานได้ว่าที่นี่เคยเป็นเทวสถานที่สมัยก่อนเคยตั้งอยู่นอกเมืองมาก่อนไม่ห่างจากศาลตาผาแดง หลังจากนั้นได้มีการปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นวัดในพุทธศาสนา ใน พ.ศ.2450 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จประพาสวัดศรีสวายและได้พบรูปพระอิศวร พระศิวะ โบราณวัตถุหินจำหลักเป็นทับหลังรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ศิลาทราย พบที่ปราสาทหลังกลาง รูปพระนารายณ์ประทับยืนมีสี่กรในวิหารสลักนูนต่ำ ชิ้นส่วนของเทวรูปและพระศิวลึงค์ทำด้วยสำริด และยังมีหลักไม้ที่ปักอยู่ภายใน จึงได้ทำให้สันนิษฐานว่าสมัยก่อนนั้น วัดศรีสวายอาจจะเคยเป็นสถานที่ที่พราหมณ์ได้ใช้ในพิธีโล้ชิงช้า (ตรียัมปวาย) แต่ในภายหลังเมื่อชาวไทยได้เข้ามาอาศัยและครองสุโขทัย สถานที่แห่งนี้จึงถูกดัดแปลงให้กลายเป็นวัดในศาสนาพุทธ
พระปรางค์ 3 องค์ วัดศรีสวาย |
มี กำแพงศิลาแลง ล้อมรอบโบราณสถานภายในทั้งหมด เป็นขอบเขตรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า บริเวณกึ่งกลางกำแพงทางด้านทิศใต้มีซุ้มประตูทางเข้า-ออกเพียง 1 แห่ง เมื่อเราได้ก้าวข้ามซุ้มประตูเข้าไปจะได้พบกับต้นไม้ใหญ่กระจายล้อมรอบภายในเขตกำแพงวัด และมีไม้พุ่มสูงประมาณเข่าตกแต่งประดับประดาเต็มสองข้างทางที่เดินไปยังตัววิหาร
วิหาร และกำแพงแก้ว |
ถัดจากวิหารเข้าไปก่อนจะถึงปรางค์ประธานของวัด ต้องผ่าน กำแพงแก้ว ซึ่งล้อมรอบพระปรางค์ 3 องค์ และส่วนหนึ่งของวิหารตอนใน เมื่อผ่านซุ้มประตูของกำแพงแก้วเข้าไปจึงจะถึง ปราสาท หรือ ปรางค์ 3 องค์ ที่ตั้งตระหง่านเป็นจุดศูนย์กลางวัด องค์ปรางค์ ก่อสร้างเรียงกันในแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก ตามรูปแบบศิลปะเขมร ลักษณะของปรางค์มีรูปร่างค่อนข้างเพรียว โดยองค์กลางมีความสูงมากที่สุด สูงประมาณ 15 เมตร หลังตะวันออกและตะวันตกสูง 12 เมตร ตั้งอยู่บนฐานเตี้ยๆ ลวดลายปูนปั้นบางส่วนบนองค์ปรางค์เหมือนลายบนเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หยวน และภายในพระปรางค์มีงานจิตรกรรมฝาผนังเป็นภาพลายเส้นแสดงคนรูปคนยืนพนมมือ ซึ่งเหลือค่อนข้างเลือนราง
นอกจากนั้นยังมีสิ่งก่อสร้างอื่นๆ อีก ได้แก่
สระน้ำ มีจำนวน 1 สระ อยู่ภายในเขตกำแพงวัด มีลักษณะคล้ายรูปตัวยูโอบล้อมรอบโบราณสถานกลุ่มปรางค์ 3 องค์ และวิหารทางด้านทิศเหนือและตะวันออก ชาวบ้านเรียกว่า "สระลอยบาป"
ฐานอาคาร ก่อด้วยศิลาแลง อยู่ในบริเวณวัด แต่อยู่นอกกำแพงแก้วทางด้านทิศตะวันตก
วัดศรีสวาย |
โบราณวัตถุสำคัญที่ค้นพบจำนวนหนึ่งจากวัดแห่งนี้ ส่วนหนึ่งได้นำมาจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง และบางส่วนยังคงหลงเหลืออยู่ที่วัด ได้แก่
1. ทับหลังรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ศิลาทราย พบที่ปราสาทหลังกลาง สลักภาพพระนารายณ์หรือพระวิษณุ บรรทมเหนือพญาอนันตนาคราชแผ่พังพานเจ็ดเศียร มีก้านบัวผุดจากพระนาภีเหนือก้านบัวเป็นรูปพระพรหมนั่งประนมหัตถ์ ปลายพระบาทมีพระลักษมีมีประคองพระชงฆ์และถัดไปเป็นรูปโยคีนั่งประนมหัตถ์ ปัจจุบันได้นำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง
2.แท่นศิลาฤกษ์ศิลาทราย ปัจจุบันตั้งอยู่บนฐานชุกชีภายในบริเวณวิหารชั้นใน หน้าปราสาทองค์กลาง ซึ่งน่าจะถูกเคลื่อนย้ายมาจากบริเวณอื่นภายในวัด ด้านบนเจาะเป็นหลุมรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดเล็กที่ตรงกลางและมุมทั้งสี่รวมเป็น 5 หลุม สันนิษฐานว่าสำหรับบรรจุวัตถุมงคลในพิธีกรรมวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างปราสาท
แท่นศิลาฤกษ์
ที่มารูป: https://www.thapra.lib.su.ac.th
|
ฐานประติมากรรมรูปเคารพ |
ปัจจุบันหากคุณมีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมวัดแห่งนี้คุณจะรับรู้ได้ว่าที่นี่ถูกซ่อมแซมดัดแปลงมาแล้วหลายรอบนับตั้งแต่ในอดีต อาจเห็นได้จากส่วนฐานอาคารที่มีลักษณะจมดินอยู่ก่อด้วยศิลาแลง หลังคาที่ซ้อนเป็นชั้นลดหลั่นกันก่อด้วยอิฐ มีสัดส่วนที่ยืดสูงขึ้น ประดับด้วยกลีบขนุนรูปครุฑยุดนาค เทวดา อัปสร และนาคที่โคนกรอบซุ้ม ซึ่งเป็นงานรูปปูนปั้นที่มีต้นแบบมาจากศิลปะแบบเขมรผสมผสานกับลวดลายในศิลปะแบบจีนในส่วนของลายดอกไม้ บางส่วนก็เหมือนลายบนเครื่องถ้วยจีนในสมัยราชวงศ์หยวน และลักษณะเด่นของใบหน้าบุคคลเป็นรูปไข่และเครื่องแต่งกายในแบบศิลปะสุโขทัย งานปูนปั้นเหล่านี้ทำให้สันนิษฐานว่าเป็นงานก่อสร้างในราวต้นหรือครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 19
วัดศรีสวายจึงถือได้ว่าเป็นโบราณสถานที่งดงามและน่าสนใจ อันมีพระปรางค์ 3 องค์ ที่เดิมสร้างขึ้นในศาสนาฮินดูเป็นประธานวัด ในแบบศิลปะเขมร ร่วมกับวิหารที่ต่อเติมดัดแปลงเป็นพุทธสถานในสมัยสุโขทัย ทำให้วัดแห่งนี้มีความโดดเด่นแตกต่างจากวัดอื่นๆ ที่อยู่ในบริเวณเดียวกัน จึงเป็นวัดที่แสดงถึงศรัทธาจาก 2 ศาสนาที่กลมกลืนกันอย่างลงตัว ดังนั้นจึงถือได้ว่าเป็นสถานที่ที่เหมาะกับคนชอบเที่ยวชมโบราณสถานหรือผู้ที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์หรือศาสนา ที่ไม่ควรพลาดเมื่อได้มาเยือนเมืองเก่าสุโขทัย
ข้อมูลเพิ่มเติม
เวลาในการเปิด-ปิดทำการ: เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00-21.00 น. (ปิดจำหน่ายบัตรเวลา 18.00 น.) และตั้งแต่เวลาประมาณ 19.00-21.00 น. จะมีการส่องไฟชมโบราณสถาน การซื้อบัตรเข้าชม:
- อัตราค่าเข้าชม สำหรับชาวไทย 10 บาท, ชาวต่างชาติ 40 บาท - ตั๋วรวมชาวไทยราคา 30 บาท และชาวต่างชาติ 150 บาท ซึ่งบัตรนี้สามารถเข้าชมอุทยานฯ อื่น ๆ ในจังหวัดสุโขทัยได้ ภายในระยะเวลา 30 วัน
เวลาที่เหมาะสมสำหรับการท่องเที่ยว: ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม – มกราคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาวของไทยทำให้มีอากาศเย็น เหมาะแก่การเดินชมโบราณสถาน
การเดินทาง: จากศาลากลางจังหวัดสุโขทัยไปทางทิศตะวันออกตามทางหลวงแผ่นดินสาย 16 ประมาณ 12 กิโลเมตร
อ้างอิง
ประเพณีไทยดอทคอม.(2556).วัดศรีสวาย.สืบค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2562.จาก http://www.prapayneethai.com
ศิลปะวัฒนธรรม.(2562).วัดศรีสวาย เดิมเป็น “เทวสถาน” ภายหลังดัดแปลงเป็นวัด.สืบค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2562.จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_22214
Ounjai Tour.(2559).วัดศรีสวาย.สืบค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2562.จาก https://sites.google.com/site/ounjaitour/topic/wadsrisway
palanla.(2562).วัดศรีสวาย จังหวัดสุโขทัย ประเทศไทย.สืบค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2562.จาก http://palanla.com/index.php?op=domesticLocation-detail&id=174
ThaiHRhub.(2558).วัดศรีสวาย ความงดงงามของพระปรางค์.สืบค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2562. จาก https://www.thaihrhub.com
Thailand Tourism Directory.(2555).วัดศรีสวาย.สืบค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2562.จาก https://thailandtourismdirectory.go.th/th/info/attraction/detail/itemid/5414
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น