วันศุกร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2562

มณฑปพระสี่อิริยาบท ความงามสง่าท่ามกลางดงศิลาแลง

ในบรรดาเมืองหน้าด่านของอาณาจักรสุโขทัย กำแพงเพชรถือได้ว่าเป็นเมืองที่มีความสำคัญเมืองหนึ่งในเขตลุ่มแม่น้ำปิง ประกอบด้วยศาสนสถานทางพระพุทธศาสนา นิกายเถราวาท ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นตามแบบฉบับของศิลปะสุโขทัย แต่ที่แตกต่างคือ สิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่สร้างจากศิลาแลงอันสูงใหญ่ แข็งแกร่ง และสง่างาม และหนึ่งในนั้นคือ มณฑปที่ "วัดพระสี่อิริยาบถ"                                      

"การเรียนรู้นอกสถานที่ภายในวัดพระสี่อิริยาบถ อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562
 เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา 428 333 แหล่งท่องเที่ยวตามประวัติศาสตร์ไทย (Historical Sites in Thai History) ทางหลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ได้จัดขึ้นสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 3 เอกประวัติศาสตร์เพื่อการท่องเที่ยว  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้เกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวตามยุคทางสมัยประวัติศาสตร์นอกสถานที่ ถือได้ว่าเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ผ่านการฝึกเป็นมัคคุเทศก์ และการฝึกใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการท่องเที่ยว"

อาจารย์และนักศึกษาเดินสำรวจภายในอุทยาน

เช้าวันที่ 2 ของการทัศนศึกษาโบราณสถานของอาณาจักรสุโขทัย หลังจากไปเยี่ยมชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยกันมาแล้ว วันนี้เราได้มีโอกาสมาเยือนถึงเมืองกำแพงเพชร ซึ่งอดีตเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญแห่งหนึ่งของอาณาจักรสุโขทัย
ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร และอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง โดยอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 เขต คือ เขตในกำแพงเมืองและเขตนอกกำแพง หรือเรียกว่า เขตอรัญญิก

อุทยานประวัติศาสตร์แห่งนี้ได้รับการประกาศให้เป็น "มรดกโลก" จาก UNESCO ภายใต้ชื่อว่า เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร (Historic Town of Sukhothai and Associated Historic Towns) เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2534 ร่วมกับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและศรีสัชนาลัย แม้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับเมืองเก่าสุโขทัย และศรีสัชนาลัย มากกว่า แต่หากมีเวลาและมีโอกาสก็อยากเชิญชวนให้มาเที่ยวที่นี่ ที่มีความสงบ คนไม่พลุกพล่าน บรรยายกาศร่มรื่น และโบราณสถานแต่ละแห่งมีขนาดใหญ่โต และสร้างด้วยศิลาแลงแทบทั้งสิ้น

เมื่อพวกเราเดินทางมาถึงและเข้าไปในเขตอุทยานฯ จะพบกับศาสนสถานอยู่จำนวนมาก ที่มีการปรับภูมิทัศน์เป็นอย่างดี ผสานกลมกลืนเข้ากับโบราณสถาน และยังมีถนนหนทางที่สะดวกสบายเชื่อมโยงต่อเนื่องกัน สามารถเดินเที่ยวชมได้เกือบทุกวัดเพราะว่าตั้งอยู่ไม่ห่างกันมากนัก บรรยากาศร่มรื่น พวกเราใช้การเดินเท้าเป็นหลักในการเยี่ยมชมวัดต่างๆ เพื่อซึมซับธรรมชาติและได้สัมผัสโบราณสถานแต่ละแห่งอย่างเต็มที่ และเมื่อเที่ยวชมวัดต่างๆ สักพัก ต้องมาสะดุดตากับความงดงามของวัดแห่งหนึ่งที่โดดเด่นแตกต่างจากที่อื่นๆ ก็คือ วัดพระสี่อิริยาบถ หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งคือ วัดพระยืน


บริเวณประตูทางเข้าของวัดพระสี่อิริยาบถ

วัดพระสี่อิริยาบถ (Wat Phra Si Iriyabot) ตั้งอยู่ถัดจากวัดพระนอนไปทางด้านทิศเหนือ มีแผนผังวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านหน้าวัดหันไปทางทิศตะวันออก มีบ่อน้ำอยู่บริเวณด้านหน้า ห้องน้ำและศาลา เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มีพักผ่อนหย่อนใจ ภายในวัดพระสี่อิริยาบทประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างสำคัญต่างๆ ดังนี้

วิหาร ตั้งอยู่ด้านหน้าของมณฑป มีแผนผังเป็นรูปกากบาท ยกฐานสูงประมาณ 2 เมตร มีเสาลูกกรงเป็นศิลาแลง มีทับหลังลูกกรงเตี้ยอยู่โดยรอบ วิหารกว้าง 17 เมตร ยาว 29 เมตร มี 7 ห้อง


บริเวณมณฑปประดิษฐานพระพุทธรูปทั้ง 4


มณฑป ขนาดใหญ่ตั้งอยู่ภายในกำแพงแก้ว ด้านหลังของวิหารด้านหน้า ทำหน้าที่เป็นประธานของวัด ซึ่งแตกต่างจากวัดส่วนใหญ่ที่มีเจดีย์เป็นประธานวัด ลักษณะมณฑปที่เห็นเป็นแบบจตุรมุข กึ่งกลางเป็นแท่งสี่เหลี่ยมทึบตันเพื่อรับส่วนยอดหลังคา แต่ปัจจุบันหลังคาพังทลายลงหมดแล้ว ทำเป็นมุขยื่นออกมาทั้ง 4 ทิศ มีแท่นอาสนะสงฆ์และฐานชุกชี เพื่อ ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นในสี่อิริยาบทที่แตกต่างกันประจำอยู่ทั้ง 4 ทิศ

ส่วนที่ประดิษฐานพระพุทธรูปจะเว้าเล็กน้อยเข้าไปในแกนแท่งสี่เหลี่ยมตรงกลาง ผสานกับพระพุทธรูปที่มีลักษณะอ่อนช้อย จึงดูเข้ากันอย่างงดงามลงตัว ซึ่งเป็นความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของสุโขทัย การสร้างมณฑปพระสี่อิริยาบทนี้ยังพบเห็นได้ที่เมืองเก่าสุโขทัย เช่น วัดพระพายหลวง และวัดพระเชตุพน เป็นต้น

พระพุทธรูปทั้งสี่อิริยาบทนั้น ผู้เชี่ยวชาญได้สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลมาจากศิลปปะปาละของอินเดีย เป็นการสร้างจากพุทธประวัติตอนต่างๆ  (ศิริปุณย์, 2558) โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับพระพุทธประวัติ 4 ตอน ดังนี้

พระพุทธณูปลีลา ด้านตะวันออก
1) ตอนเสด็จจากดาวดึงส์ อยู่ผนังด้านตะวันออกเป็นพระพุทธรูปลีลา สภาพปัจจุบันเหลือเพียงองค์พระเท่านั้น พระเศียร พระกร พระบาท หักชำรุดไป ร่องรอยที่ปรากฏแสดงถึงการยกพระหัตถ์ซ้าย พระหัตถ์ขวาแนบลำตัว พระบาทซ้ายเหยียดตรง พระบาทขวางอเล็กน้อยในลักษณะอาการเดิน การครองจีวรอยู่ในลักษณะห่มคลุม



             

พระพุทธรูปในอิริยาบถนั่ง
2) ตอนเสด็จปรินิพพาน อยู่ด้านทิศเหนือพระพุทธรูปในอิริยาบถนอน แต่ชำรุดหมด เหลือปรากฏพอให้เห็นคือด้านปลายของพระบาท ซึ่งแสดงถึงการหันพระเศียรไปทางทิศตะวันออก


3) ตอนตรัสรู้ อยู่ด้านทิศใต้เป็นพระพุทธรูปนั่ง แต่ไม่ปรากฏชัดว่าอยู่ในปางใด หน้าตักกว้างประมาณ 5.20 เมตร ที่กึ่งกลางฐานด้านล่างมีการก่อศิลาแลงเป็นแท่น อาจจะทำไว้สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป อีกทั้งบริเวณใกล้ๆ ยังมีพระพุทธรูปที่ขึ้นโกลนไว้อยู่ด้วย

พระพุทธรูปในอิริยาบถยืน ด้านทิศตะวันตก

4) ตอนประทานเทศนา อยู่ด้านทิศตะวันตกเป็นพระพุทธรูปในอิริยาบถยืน พระองค์และพระเศียรค่อนข้างสมบูรณ์ พระหัตถ์ขวาแนบลำตัว พระหัตถ์ซ้ายน่าจะยกงอแต่หักชำรุดไป พระบาททั้งสองข้างเหยียดตรง คลองจีวรในลักษณะห่มคลุม ชายจีวรตกลงมาเสมอกันทั้งสองข้าง


นอกจากนั้นยังมีโบราณสถานต่างๆ กระจายอยู่ ดังนี้

กลุ่มเจดีย์ในกำแพงแก้ว มีทั้งหมด 17 องค์ สร้างเป็นกลุ่มๆ ภายในกำแพงแก้วทั้ง 4 ทิศ ลักษณะของเจดีย์มีหลายรูปแบบ แต่มีความพิเศษคือ มณฑปของยอดเจดีย์ ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ส่วนใหญ่ได้หักพังลงมาจึงสังเกตเห็นได้ยาก

โบสถ์ เป็นอาคารศาลาขนาดเล็ก รูปสี่เหลี่ยม ซึ่งปรากฏแนวเสา 2 แถว 3 ห้อง ไม่มีร่องรอยการก่อผนัง ส่วนด้านบนหักชำรุด มีเศษกระเบื้องมุงหลังคากระจายอยู่ พบร่องรอยของใบเสมาหินชนวนสีเทาวางอยู่เป็นระยะโดยรอบ

โบราณสถานหลังมณฑป เป็นอาคารที่สร้างจากศิลาแลงทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยกฐานสูง สร้างเป็นแนวขนานกัน 4 หลัง อาจจะเป็นศาลาที่ใช้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ

บ่อน้ำ ทำเป็นรูปสี่เหลี่ยม ขุดเจาะลงไปชั้นแลงธรรมชาติ ส่วนปากบ่อกรุด้วยแลง พบบ่อน้ำจำนวน 4 มุม ภายในกำแพงวัด และริมอาคารศาสนสถานทั้ง 2 แห่ง


มณฑปพระสี่อิริยาบท นับเป็นจุดเด่นหลักของวัดแห่งนี้ และพระพุทธรูปทั้งสี่องค์นี้มีรูปแบบศิลปะสุโขทัยในสกุลช่างกำแพงเพชร ซึ่งมีพุทธลักษณะโดยเฉพาะพระพักตร์ที่เรียวยาวแตกต่างจากพระพุทธรูปหมวดใหญ่ในสกุลช่างสุโขทัยทั่วไป และรูปแบบมณฑปลักษณะนี้ก็ปรากฏในเมืองสุโขทัยเช่นกัน สันนิษฐานว่าวัดพระสี่อิริยาบถมีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 20-21 สมัยสุโขทัยต่อเนื่องถึงสมัยอยุธยาตอนต้น

การก่อสร้างพระสี่อิริยาบทนอกจากจะมีความหมายในการระลึกนึกถึงเหตุการณ์บางตอนในพุทธประวัติ เช่นเดียวกับพระพุทธรูปซึ่งสร้างขึ้นทั่วไปเ อาจจะเป็นเครื่องชี้นำถึงอิริยาบถสี่ประการของผู้ที่ต้องการเจริญวิปัสนากรรมฐาน ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญขั้นตอนหนึ่งในการเข้าถึงพระนิพพานก็เป็นไปได้ (ศิริปุณย์, 2558)

นักศึกษากำลังชื่นชมพระพุทธรูป

จากการมาสำรวจและศึกษาวัดพระสี่อิริยาบถ ณ อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร แห่งนี้ ทำให้พวกเราทราบถึงความรุ่งเรืองของพุทธศาสนา ได้เห็นความโดดเด่นของวัดนี้ นอกจากนี้ยังทำให็เห็นถึงความตั้งใจจากความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของบรรพชนที่สร้างสรรค์ความยิ่งใหญ่และงดงามของศาสนสถานในยุคนั้น ปัจจุบันถึงแม้สถานที่แห่งนี้จะถูกทิ้งร้างไปกลายเป็นโบราณสถาน ที่ไม่สมบูรณ์เหมือนเมื่อก่อน แต่ยังคงความสวยงาม  ทรงคุณค่าและมีเสน่ห์ให้คนรุ่นหลังได้มาศึกษา เยี่ยมชม และช่วยกันรักษาให้คงอยู่สืบต่อไปตราบนานเท่านาน




ข้อมูลเพิ่มเติม

เวลาทำการ : 08.00 - 17.00 น.
ค่าเข้าชม : ชาวไทย 10 บาท / ท่าน
                  ชาวต่างชาติ 40 บาท / ท่าน
สำหรับผู้ที่นำรถเข้าชมบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ต้องเสียค่าผ่านประตู 50 บาท / คัน
เบอร์ติดต่อ : 0 5571 1921
ที่ตั้ง : ตำบล หนองปลิง อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร 62000

การเดินทาง : จากตัวเมืองกำแพงเพชรประมาณ 5 กิโลเมตร ตามถนนสายกำแพงเพชร - พรานกระต่าย แล้วเลี้ยวซ้ายตรงกิโลเมตรที่ 360


อ้างอิง

สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์. (2537). ศรีทวารวดีถึงศรีรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ

PAIDUAYKAN.COM. อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2562,
จาก https://www.paiduaykan.com

ฐานข้อมูลมรดกโลกของประเทศไทย. วัดพระสี่อิริยาบถ. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2562,
จาก http://heritage.onep.go.th/

ศิริปุณย์ ดิสริยะกุล. (2558). การสันนิษฐานรูปแบบสถาปัตยกรรม มณฑปพระสี่อิริยาบถ วัดพระสี่อิริยาบถ จังหวัดกำแพงเพชร. วารสารหน้าจั่ว มหาวิทยาลัยศิลปากร. ปี 2558, ฉบับที่12.

ภัคพดี อยู่คงดี. (2523). พระสี่อิริยาบถ เมืองกแพงเพชร. สารนิพนธ์ ปริญญาศิลปศาสตร์บัณฑิต(โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น