วันอาทิตย์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท แอ่งอารยธรรมหลายพันปี

จังหวัดอุดรธานี ถือได้ว่าเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคอีสานตอนบน ที่มีความโดดเด่นเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก และหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้เรียนรู้ทั้งเรื่องราวทางธรรมชาติและประวัติศาสตร์ที่ไม่ควรพลาด คือ "อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท" (Phu Phra Bat Historical Park) ที่แสดงอารยธรรมของมนุษย์ผ่านช่วงเวลาถึง 4 สมัย และความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ โดยกระบวนการกัดกร่อนหินทราย ให้เกิดเป็นรูปร่างต่างๆ เชื่อมโยงกับนิทานพื้นบ้าน เรื่องอุสา - บารส จนกลายเป็นตำนานที่ยังมีชีวิต

รายงานโดย จิราภรณ์ ทรงพระ

การเรียนรู้นอกสถานที่ภายในอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เมื่อว้นที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 ในรายวิชา 428 333 แหล่งท่องเที่ยวตามประวัติศาสตร์ไทย (Historical Sites in Thai History) ทางหลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดขึ้นสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 3 เอกประวัติศาสตร์เพื่อการท่องเที่ยว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ให้นักศึกษาได้เรียนรู้เกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวตามยุคสมัยทางประวัติศาสตร์นอกสถานที่ ซึ่งเป็นเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ผ่านการฝึกเป็นมัคคุเทศก์ และการฝึกใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการท่องเที่ยว 
สำหรับอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทนี้ ตั้งอยู่บนเขา “ภูพระบาท” ภูเขาขนาดย่อม ที่เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพาน อันเป็นแนวขอบด้านทิศตะวันตกของเเอ่งสกลนคร อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ภูเขาลูกนี้อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง (320 – 350 เมตร) มีพื้นที่ทั้งหมด 3,430 ไร่ อันเป็นพื้นที่ของเขตป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าเขือน้ำ” ที่ประกอบด้วย ป่าหลายประเภท ได้แก่ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง จึงอุดมไปด้วยพันธุ์ไม้หลายชนิด ทั้งไม้ดอก ไม้ยืนต้น สมุนไพร แหล่งอาหารและแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของผู้คนในแถบนี้มานับตั้งแต่อดีต
           
ชื่อ “ภูพระบาท” มีที่มาจากรอยพระพุทธบาท ที่ประดิษฐานอยู่บนเทือกเขาแห่งนี้ และภายในเขตอุทยานยังมีเสาหินและเพิงหินขนาดใหญ่กระจายตัวอยู่ทั่วไป เพิงหินเหล่านี้เป็นหินทรายของหมวดหินภูพาน มีอายุอยู่ในสมัยครีเทเชียส (Cretaceous period) หรือราว 130 ล้านปีมาแล้ว ที่ถูกกระบวนการทางธรรมชาติกัดเซาะ (โดยน้ำและลม) มาเป็นเวลาหลายล้านปี จึงทำให้สภาพแปรเปลี่ยนเป็นเสาหินและเพิงหินรูปร่างสวยงามแปลกตา นอกจากนี้ยังพบว่า มีร่องรอยการใช้พื้นที่ของมนุษย์ในสมัยโบราณที่มีอายุเก่าแก่หลายพันปี ปรากฏอยู่ตามเพิงหินต่างๆ ในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท มีร่องรอยหลักฐานที่แสดงถึงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์มาอย่างต่อเนื่องหลายยุคสมัย ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์หลายพันปีมาจนถึงในปัจจุบัน

ส่วนเรื่องราวของนิทานพื้นบ้านที่เชื่อมโยงกับภูพระบาทและเล่าขานสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ก็คือเรื่อง "นางอุสาและท้าวบารส" ในนิทานกล่าวถึง ท้าวกงพาน เจ้าเมืองพาน (ซึ่งตั้งอยู่บริเวณภูพระบาท) ได้ไปขอนางอุสา จากฤาษีจันทา ผู้เป็นอาจารย์ มาเลี้ยงเป็นราชธิดาบุญธรรม (นางอุสานี้เล่าขานกันว่าเป็นผู้ที่เกิดจากดอกบัว ในสระบนเทือกเขาและพระฤาษีจันทาได้นำมาเลี้ยงไว้) นางอุสามีความงามเป็นเลิศและมีกลิ่นกายหอมกรุ่น

ที่มา: http://www.finearts.go.th/phuphrabathistoricalpark/
ท้าวกงพานจึงหวงแหนนางเป็นอย่างมาก ไม่ยอมยกให้บรรดาเจ้าชายต่างเมืองที่มาสู่ขอ และได้สร้างตำหนักเป็นหอสูงไว้ให้นางอยู่อาศัยขณะมาเรียนวิชากับฤาษีจันทา (ดังปรากฏให้เป็นเป็นหอนางอุสา อันเป็นจุดเด่นสำคัญของภูพระบาท) วันหนึ่งนางได้ไปเล่นน้ำ และเก็บดอกไม้มาร้อยเป็นมาลัยรูปหงส์ ลอยน้ำไปเพื่อเสี่ยงทายหาคู่ มาลัยรูปหงส์นี้ ได้ลอยไปจนถึงเมืองปะโคเวียงงัวที่มีท้าวบารสเป็นโอรสของเจ้าเมือง ท้าวบารสจึงออกตามหาเจ้าของมาลัย เมื่อมาจนถึงเขตเมืองพานได้หยุดพักม้าไว้ แล้วออกเดินชมป่าจนไปพบนางอุสาและลักลอบอยู่กินด้วยกันบนหอนางอุสา

กระทั่งท้าวกงพานจับได้ จึงออกอุบายให้สร้างวัดแข่งกัน คือ วัดพ่อตาและวัดลูกเขย หากใครสร้างไม่เสร็จก่อนดาวประกายพฤกษ์ขึ้น จะต้องถูกประหาร พี่เลี้ยงนางอุสาสงสารท้าวบารส จึงออกอุบายให้คนนำโคมไฟไปแขวนที่ยอดไม้ ฝ่ายท้าวกงพานจึงเข้าใจผิด คิดว่าดาวประกายพฤกษ์ขึ้นแล้ว จึงยุติการสร้างและเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และถูกประหารชีวิต ท้าวบารสจึงพานางอุสากลับไปบ้านเมืองตน แต่ด้วยเหตุท้าวบารสมีชายาเดิมอยู่ก่อนแล้ว จึงสร้างเรื่องอันเป็นเหตุให้ท้าวบารสต้องออกเดินป่าผู้เดียวเป็นเวลาหนึ่งปี นางอุสาจึงถูกกลั่นแกล้งจนทนไม่ไหว ต้องหนีกลับมาเมืองพานและตรอมใจตาย ด้วยความเศร้าโศกเสียใจ ฝ่ายท้าวบารสทราบเรื่อง ก็ติดตามนางอุสามายังเมืองพาน และพบว่าไม่ทันการณ์ จึงตรอมใจตายตามนางอุสาไปในที่สุด

เรื่องราวความรักของนางอุสาและท้าวบารส แม้จะจบลงด้วยความเศร้า แต่ก็เป็นตำนานพื้นบ้านที่นิยมเล่าขานกันมาหลายร้อยปี และถูกนำมาเชื่อมโยงกับเพิงหินธรรมชาติรูปร่างประหลาดบนภูพระบาท ซึ่งมีการเข้ามาดัดแปลงและใช้ประโยชน์ของผู้คนหลายยุคหลายสมัย อันปรากฏเป็นชื่อเรียกโบราณสถานต่างๆ ในกลุ่มภูพระบาท เช่น หอนางอุสา คอกม้าท้าวบารส หีบศพพ่อตา หีบศพลูกเขย วัดพ่อตา วัดลูกเขย เป็นต้น

การเข้ามาใช้พื้นที่อย่างต่อเนื่องของผู้คนที่ทิ้งร่องรอยหลักฐานไว้ ทำให้สามารถจำแนกช่วงเวลาออกเป็น 4 สมัย ดังนี้

ถ้ำคน
1. สมัยก่อนประวัติศาสตร์ (3,000 -2,500 ปีมาแล้ว)

พื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ปรากฏหลักฐานโบราณคดี สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญคือ “ภาพเขียนสี” หรือที่เรียกว่า "ศิลปะถ้ำ" ซึ่งถูกเขียนเอาไว้บนผนังถ้ำ เพิงผา หรือเพดานของเพิงหินต่างๆ โดยสีที่ใช้เขียนมีทั้งสีแดงและสีขาว (แต่เกือบทั้งหมดจะเป็นสีแดง) นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า สีเหล่านี้น่าจะได้จากวัตถุดิบตามธรรมชาติ เช่น ดินเทศ แร่เฮมาไทต์ ยางไม้ หรือผงสนิมเหล็ก โดยอาจมีการนำมาผสมกับสารบางชนิดที่มีคุณสมบัติเคลือบสีให้ติดกับเนื้อหินถาวร ส่วนรูปแบบของภาพเขียนสี สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ภาพเสมือนจริง (ภาพคน สัตว์ พืช สิ่งของ) และภาพนามธรรม (ภาพสัญลักษณ์ ลายเรขาคณิต)

สำหรับการกำหนดอายุสมัยนั้น ในปัจจุบันยังไม่มีวิทยาการใด ที่สามารถระบุอายุของภาพเขียนสีเหล่านี้ได้โดยไม่ทำให้ภาพเสียหาย ดังนั้น นักโบราณคดีจึงตีความอายุภาพเหล่านี้ จากเรื่องราวที่ปรากฏอยู่บนภาพ ซึ่งมักจะวาดเป็นภาพคน ภาพสัตว์ ภาพกิจกรรมการล่าสัตว์เพาะปลูก หรือภาพพิธีกรรมบางอย่าง ซึ่งประมาณอายุไว้ไม่เกิน 3,000 ปี เราสามารถพบเห็นภาพเขียนสีเหล่านี้ได้แทบจะทุกเพิงหิน แต่อาจต้องใช้การสังเกตให้มาก ส่วนเพิงหินที่เห็นได้ชัดเจน ได้แก่ ถ้ำวัว และถ้ำคน


2. สมัยทวารวดี (ราวพุทธศตวรรษที่ 12 – 16)

หลักฐานทางโบราณคดี สมัยทวารวดีที่ปรากฏบนภูพระบาทคือ การปักใบเสมาหินซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมทวารวดีในภาคอีสานของไทย

ใบเสมาเหล่านี้ น่าจะมีหน้าที่การใช้งานเช่นเดียวกับใบเสมาสมัยปัจจุบันคือ ใช้ปักกำหนดขอบเขตของพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ หรือสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของพระสงฆ์ โดยนักวิชาการหลายท่าน ให้ความเห็นว่าเสมาหินเหล่านี้ อาจพัฒนามาจากคติการปัก “หินตั้ง” ของวัฒนธรรมหินใหญ่ (Megaliths) ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์

ใบเสมาหินที่พบในบริเวณภูพระบาท ทั้งหมดเป็นเสมาแบบเรียบไม่มีลวดลาย การพบหลักฐานใบเสมาหินบนภูพระบาทนั้น ทำให้สันนิษฐานได้ว่าในช่วงสมัยทวารวดีนั้น ชุมชนบริเวณรอบๆ ภูพระบาทมีการรับนับถือพุทธศาสนาแล้ว โดยกำหนดให้พื้นที่บนภูพระบาท เป็นสถานที่ศักดิสิทธิ์ของชุมชน อาจเป็นสถานที่ศึกษาพระธรรมและประกอบกิจของพระสงฆ์สายอรัญวาสีในสมัยนั้น

ถ้ำพระ
3. สมัยลพบุรี หรือสมัยวัฒนธรรมเขมรในประเทศไทย

ภายในเขตภูพระบาทนั้น พบหลักฐานทางโบราณคดี สมัยลพบุรีอยู่หลายแห่ง ได้แก่ ถ้ำพระ วัดพ่อตา และวัดลูกเขย ซึ่งมีนักวิชาการให้ความเห็นว่าเป็นหลักฐานช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างช่วงปลายสมัยทวารวดี-สมัยลพบุรี หรือราวๆ พุทธศตวรรษที่ 17– 19 เนื่องจากยังคงรูปเเบบศิลปะสมัยทวารวดีอยู่ด้วย โดยเฉพาะประติมากรรมรูปพระโพธิสัตว์ที่นุ่งผ้านุ่งคล้ายคลึงกับที่พบในวัฒนธรรมเขมร

4. สมัยล้านช้าง

จากการที่พื้นที่ใกล้เคียงอย่างหนองคาย หนองบัวลำภู นครพนม ฯลฯ ได้รับอิทธิพลของล้านช้าง พื้นที่บริเวณภูพระบาท จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับอิทธิพลดังกล่าวเช่นเดียวกัน ที่ถ่ายทอดผ่านรูปแบบงานศิลปกรรม และสถาปัตยกรรม หลักฐานสมัยล้านช้างที่พบได้แก่ พระพุทธรูป รอยพระพุทธบาทและการสร้างธาตุ (เจดีย์) ครอบรอยพระพุทธบาท อยู่ในกลุ่มพระพุทธบาทบัวบาน และพระพุทธบาทบัวบก นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึง “เมืองพาน” ในตำนานอุสา-บารส และตำนานอุรังคธาตุ ซึ่งเป็นวรรณกรรมสำคัญของผู้คนทั้งสองฝั่งโขงที่แต่งขึ้นในสมัยล้านช้าง ทำให้มีการเรียกโบราณสถานต่างๆ บนภูพระบาทให้สอดคล้องกับสถานที่ในตำนาน

ภายในอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทมีสถานที่ที่น่าสนใจมากมาย ซึ่งไม่สามารถจะนำมากล่าวถึงทั้งหมดได้ในที่นี้ จึงขอนำเสนอโบราณสถานที่สำคัญบางแห่ง ดังนี้


1. หอนางอุสา (Ho Nang U-SA)
เป็นจุดท่องเที่ยว ที่ห้ามพลาดเด็ดขาดของอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท มีลักษณะเป็นโขดหินสูงประมาณ 9.50 เมตร ถูกดัดแปลงให้เป็นห้องขนาดเล็ก สันนิษฐานว่าอาจจะใช้เป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหรือที่นั่งวิปัสสนาของบุคคลสำคัญ
ส่วนลานหินด้านล่าง มีใบเสาหินทรายล้อมรอบแสดงถึงเขตศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนา ตามตำนานเล่าว่าเป็นที่อยู่ของนางอุสา

2. ถ้ำพระ (Tham Phra)
เป็นเพิงหิน ประกอบด้วยก้อนหินขนาดใหญ่สองก้อนวางซ้อนกัน รอบแกนหินสลักภาพประติมากรรมนูนสูง เป็นรูปพระพุทธรูปเรียงกันในท่านั่งและยืน บางรูปประทับนั่งในซุ้ม รูปหนึ่งเป็นบุคคลยืน คล้ายการแต่งกายแบบศิลปะเขมร แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ภาพประติมากรรมมีสภาพชํารุด พระพักตร์หลุดหายไปส่วนใหญ่ แต่ยังคงความสวยงามอยู่ คาดว่ามีอายุอยู่ในสมัยทวารวดี -ลพบุรี ราวพุทธศตวรรษที 14 - 16

3. ถ้ำวัว ถ้ำคน (Tham Wuow, Tham Kon)
เป็นเพิงหินที่มีภาพเขียนสีแดงในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ อายุราว 2,500 - 3,000 ปีมาแล้ว ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้คือ ถ้ำวัว มีภาพฝูงสัตว์ (รูปวัวและลูกวัว) ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือคือ ถ้ำคน มีรูปกลุ่มคนเจ็ดคนบนผนังถ้ำและรูปคนเดี่ยวๆ บนเพดานถ้ำ

4. ถ้ำฤาษี (Ruesi Cave)
เป็นเพิงหินสูงใหญ่ที่มีใบเสมาล้อมรอบทั้งหมด 8 แห่ง (แต่ปัจจุบันใบเสมาทางด้านทิศเหนือหายไป เหลือเพียงหลุมเสา) ตามตำนานเล่าว่าเป็นที่อยู่ของฤาษีจันตา ซึ่งเป็นอาจารย์ของท้าวกงพาน บิดาของนางอุสา

5. คอกม้าน้อย (The Minor Stable)
เป็นเพิงหินที่มีการสกัดเป็นที่นั่งวิปัสสนา มีใบเสมาปักอยู่โดยรอบ ตามตำนานเล่าว่าเป็นที่ผูกม้าของบริวารท้าวบารส

6. วัดพ่อตา และวัดลูกเขย (Wat Pho ta and Wat Louk Khoei)
เป็นเพิงหินที่มีการสกัดเป็นห้องประดิษฐานพระพุทธรูป รอบแกนหินค้ำหลังคา ตามตำนานเล่าว่าเป็นวัดที่พระยากงพานสร้างแข่งกับท้าวบารส ส่วนวัดลูกเขย เป็นเพิงหินที่มีการดัดแปลง โดยการนำแท่งหินทรายขัดเรียบ มาก่อเป็นห้องประดิษฐานพระพุทธรูปโบราณ 5 องค์ ตามศิลปะลพบุรี ตามตำนานเล่าว่า เป็นวัดที่ท้าวบารส สร้างแข่งกับพระยากงพาน ผู้เป็นพ่อตา ฯลฯ


สำหรับการมาทัศนศึกษา และเรียนรู้โบราณสถานนอกสถานที่ในครั้งนี้ นอกจะได้มีโอกาสเรียนรู้ประสบการณ์จริง ผ่านการเป็นมัคคุเทศก์ โดยการให้ความรู้และบรรยายสถานที่ต่างๆ เป็นภาษาอังกฤษเพื่อเตรียมความพร้อมในการประกอบอาชีพในอนาคตแล้ว ยังได้เรียนรู้ร่องรอยทางประวัติศาสตร์ ที่ผูกโยงระหว่างคนและธรรมชาติ รังสรรค์ขึ้นผ่านกาลเวลา จนกลายเป็นมรดกล้ำค่า ที่สะท้อนถึงรากเหง้าทางวัฒนธรรมของอีสานด้วย ดังนั้นเราจึงควรช่วยกันอนุรักษ์สมบัติทุกชิ้น ที่บรรพบุรุษของเราสร้างสรรค์ขึ้นมา ดังกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่พระราชทานไว้ ดังนี้
"...โบราณสถานนั้นเป็นเกียรติของชาติ อิฐเก่าๆ แผ่นเดียวก็มีค่า ควรจะช่วยกันรักษาไว้ ถ้าเราขาดสุโขทัย อยุธยา และกรุงเทพฯ แล้ว ประเทศไทยก็ไม่มีความหมาย"
(พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสนี้ในคราวเสด็จประพาส จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อพุทธศักราช 2506)


วัน - เวลาทำการ
วันจันทร์ - วันอาทิตย์ เวลา 08:00 - 18:00 น.

อัตราค่าเข้าชม
  - ต่างชาติ 100 บาท
  - คนไทย  20 บาท

การเดินทาง:
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อยู่ห่างจากตัวจังหวัดอุดรธานี 67 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 2 (อุดรธานี-หนองคาย) เมื่อถึงกิโลเมตรที่ 13 เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 2021 ไปทางอำเภอบ้านผือ ระยะทาง 42 กิโลเมตร จากนั้นเลี้ยวขวาประมาณ 500 เมตร และตรงไปตามทางหลวงหมายเลข 2348 อีก 12 กิโลเมตร และเลี้ยวขวาเข้าไปประมาณ 2 กิโลเมตร

การติดต่อ: 
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
โทรศัพท์/สำนักงาน 042-219837-8
e-mail: usasawat@hotmail.com

อ้างอิง
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์กรมศิลปากร. (มปก). อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท. สืบค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2562, จาก https://bit.ly/2NEpTDN

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. (2555). เจดีย์ พระพุทธรูป ฮูปแต้ม สิม ศิลปะลาวและอีสาน. สืบค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2562, จาก https://bit.ly/2S8utQB

อมรา ศรีสุชาติ. (2535). ศิลปะถ้ำสมัยประวัติศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. สืบค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2562, จาก https://bit.ly/2NEpTDN

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท. (มปก). นิทานพื้นบ้านเรื่องอุสา บารส. สืบค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2562, จาก https://bit.ly/2S7En4C


















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น