วันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

บ้านเชียง แหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมหนึ่งเดียวในอีสาน

เกมต่อภาพโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง
สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญระดับโลก เมื่อมาเยือนจังหวัดอุดรธานีแล้วพลาดไม่ได้ นั่นคือ บ้านเชียง ตัวแทนของยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่มากที่สุดแห่งหนึ่ง และยังเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งเดียวในภาคอีสาน ที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางวัฒนธรรมของมนุษย์ที่สั่งสมมายาวนานหลายพันปี





การเรียนรู้นอกสถานที่ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง หลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีใน และบ้านไทยพวน ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี เมื่อว้นที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นส่วนหนึ่งในรายวิชา 428 333 แหล่งท่องเที่ยวตามประวัติศาสตร์ไทย (Historical Sites in Thai History) ทางหลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดขึ้นสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 3 เอกประวัติศาสตร์เพื่อการท่องเที่ยว  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ให้นักศึกษาได้เรียนรู้เกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวตามยุคสมัยประวัติศาสตร์นอกสถานที่ ถือได้ว่าเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ผ่านการฝึกเป็นมัคคุเทศก์ และฝึกใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการท่องเที่ยว

บ้านเชียงตั้งอยู่ในตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ได้รับการขึ้นบัญชีให้เป็นแหล่งมรดกโลก 1 ใน 5 ของประเทศไทย เมื่อปี 2535 โดยองค์การยูเนสโก (UNESCO) แม้การกำหนดอายุสมัยของบ้านเชียงจะเปลี่ยนแปลงในทางที่ลดลงเนื่องจากพัฒนาการทางเทคโนโลยีการตรวจพิสูจน์อายุสมัย จาก 5,000 กว่าปี จนถึง 4,000 กว่าปีก็ตาม แต่ไม่ได้ทำให้ความสำคัญในฐานะแหล่งโบราณคดีที่แสดงพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยผ่านโบราณวัตถุจำนวนมากลดคุณค่าลง

บ้านเชียงยังเป็นแหล่งก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่แสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการทางวัฒนธรรม สังคม เทคโนโลยี และการเชื่อมโยงของผู้คนในพื้นที่อุษาคเนย์กว่าหลายพันปี บ้านเชียงจึงเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญที่เรา "ต้องไม่พลาด" อย่างแน่นอน

เมื่อเดินทางเข้าสู่บ้านเชียงแล้ว มีจุดเยี่ยมชมสำคัญ 3 จุด ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน เริ่มจาก หมุดหมายแรก คือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง ที่จัดแสดงโบราณวัตถุส่วนใหญ่ที่มาจากการขุดค้นในพื้นที่รวมทั้งแหล่งโบราณคดีใกล้เคียงในวัฒนธรรมเดียวกัน หมุดหมายที่ 2 คือ คือ เรือนไทพวน เรือนไม้โบราณที่หาดูได้ยาก ที่ถูกโอบล้อมด้วยบ้านเรือนสมัยใหม่ และเนื่องจากสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ไม่เกิน 16:00 น. เราจึงเลือกไว้เป็นแห่งที่สอง และหมุดหมายสุดท้าย คือ วัดโพธิ์ศรีใน แหล่งขุดค้นทางโบราณคดีที่จัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑสถานกลางแจ้ง ปัจจุบันสร้างเป็นอาคารมีหลังคาคลุม และเปิดให้เข้าชมได้ถึง 18:00 น. เราจึงเลือกเข้าชมเป็นสถานที่สุดท้าย

ส่วนนิทรรศการที่แสดงสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตคนบ้านเชียงในอดีต
สภาพแวดล้อมของบ้านเชียงในอดีตกาล

บ้านเชียง เมื่อประมาณ 4,000 - 5,000 ปีมาเเล้ว ปรากฏร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งเลือกอาศัยอยู่บนเนินดินสูงปานกลางใกล้จุดที่ทางน้ำธรรมชาติสองสายบรรจบกันซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านเชียงในปัจจุบัน ผู้คนในยุคนั้นดำรงชีวิตด้วยการล่าสัตว์ หาของป่า ทำการเกษตรกรรมและหัตถกรรม ต่อมาจึงมีการริเริ่มทำการโลหกรรม นั่นคือ การหล่อสำริด (โลหะที่ผสมระหว่างทองแดงและดีบุก) เพื่อเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ก่อนที่จะค้นพบเหล็กในสมัยสุดท้าย

ชาวบ้านเชียงในยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายเรียนรู้ที่จะนำเอาเหล็กผลิตเป็นเครื่องมือสำหรับใช้งานและเปลี่ยนสำริดให้กลายเป็นเครื่องประดับที่หลากหลายขึ้น ซึ่งพบเห็นเป็นจำนวนมากจากหลุมฝังศพ ชาวบ้านเชียงสมัยนั้นนิยมฝังของอุทิศต่างๆ ได้แก่ ภาชนะบรรจุดินเผา เครื่องประดับ เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ รวมทั้ังอาหารร่วมกับศพ แสดงถึงความเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตาย ประเภทและปริมาณสิ่งของที่อุทิศให้แตกต่างกันในแต่ศพ นั่นอาจเเสดงถึง "สถานะ" ทางสังคมของผู้ตาย นอกจากนั้นยังอาจแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างทางยุคสมัย เป็นที่น่าสังเกตว่าปริมาณสิ่งของที่อุทิศให้กับผู้ตายในสมัยหลังมีเพิ่มมากขึ้นกว่าสมัยแรก และวัตถุหลักฐานที่พบส่วนใหญ่ได้มากจากการขุดค้นแหล่งฝังศพ สิ่งเหล่านี้ทำให้นักโบราณคดีสามารถแบ่งช่วงเวลาการอยู่อาศัยของชาวบ้านเชียงในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ออกเป็น 3 ระยะใหญ่ ๆ ดังนี้


ภาพแสดงภาชนะ (ไห) บรรจุศพเด็ก ในสมัยแรก
1. สมัยต้น (ราว 4,300 - 3,000 ปีมาเเล้ว)

ประเพณีการฝังศพในระยะแรก พบอย่างน้อย 3 แบบ ได้แก่ 1) การฝังศพแบบนอนหงายเหยียดยาว โดยมีภาชนะดินเผาอยู่ที่บริเวณขาหรือศีรษะ  2) การฝังศพแบบนอนงอขา เป็นแบบที่พบไม่มากนัก และ 3) การฝังศพเด็กลงในภาชนะดินเผาขนาดใหญ๋ มักใช้ฝังศพเด็กทารกอายุไม่เกิน 3 ขวบ

ส่วนภาชนะดินเผาที่พบสามารถแบ่งตามรูปทรงที่นิยมในแต่ละระยะ ตามลำดับดังนี้
  • ภาชนะมีฐานเตี้ยสีดำ ครึ่งบนตกแต่งด้วยเส้นขีดเป็นลายขด ครึ่งล่างตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ
  • ภาชนะขนาดใหญ่สำหรับใส่ศพเด็ก และภาชนะขนาดเล็กที่นิยมตกแต่งด้วยเส้นขีดคดโค้ง
  • ภาชนะทรงกระบอก และภาชนะก้นกลมคอตั้งตรง ตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ และพบหลักฐานทางโลหกรรมที่สำคัญ คือ ใบหอกสำริดที่เก่าที่สุดของบ้านเชียง พบในหลุมที่ฝังเเบบนอนงอเข่า
  • ภาชนะก้นกลมตกแต่งไหล่ภาชนะด้วยลายขีดเป็นเส้นคดโค้งผสมการเขียนสีเเดง และตกแต่งส่วนอื่นด้วยลายเชือกทาบ เรียกภาชนะดินเผาแบบนี้ว่า "แบบบ้านอ้อมแก้ว" ที่ขุดพบ ณ แหล่งโบราณคดีบ้านอ้อมแก้ว ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านเชียงมากนัก

ภาพแสดงโครงกระดูกที่ถูกฝังพร้อมกับเศษภาชนะดินเผา
2. สมัยกลาง (ราว 3,000 - 2,300 ปีมาเเล้ว)

ประเพณีการฝังศพในสมัยนี้นิยมฝังแบบนอนหงายเหยียดยาว จากนั้นทุบภาชนะดินเผาให้แตกเพื่อนำมาโรยบนศพ มีภาชนะดินเผาแบบเด่น คือ ภาชนะดินเผาสีขาวนวล ทำไหล่ภาชนะเป็นสันหักมุม มีแบบก้นแหลมและก้นกลม ตอนปลายของสมัยเริ่มมีการตกแต่งด้วยการทาสีแดงที่ปากภาชนะ



การจำลองหลุมศพเด็ก มีลูกกลิ้งดินเผาฝังร่วมด้วย
3. สมัยปลาย (ราว 2,300 - 1,800 ปีมาแล้ว)

ประเพณีการฝังศพในสมัยนี้นิยมฝังแบบนอนหงายเหยียดยาวเช่นเดียวกับสมัยกลาง แล้วนำภาชนะดินเผาทับไว้บนศพ ในช่วงต้นของสมัยปลายนิยมผลิต ภาชนะดินเผาเขียนลวดลายสีแดงบนพื้นขาวนวล แต่ช่วงกลางของสมัยปลายเป็นต้นมานิยมผลิต ภาชนะดินเผาตกแต่งด้วยลายเขียนสีบนพื้นสีแดง การฝังศพเด็กในสมัยปลายนั้น มีการนำลูกกลิ้งดินเผาสลักลวดลายต่าง ๆ ฝังร่วมกับศพด้วย




บริเวณทางเข้าด้านหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง


หมุดหมายแรก : พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ บ้านเชียง (Ban Chiang National Museum)


ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง
สำหรับพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ บ้านเชียง (Ban Chiang National Museum) แห่งนี้ ได้ถือกำเนิดขึ้นภายหลังจากการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชมการขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านเชียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2515 จึงทำให้คนในท้องถิ่นนั้นเกิดการตื่นตัวในการทำนุบำรุงรักษาแหล่งโบราณคดีที่ถูกขุดทำลายจากขบวนการค้าวัตถุ

ต่อมา พ.ศ.2518 กรมศิลปากรในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบในการบริหารจัดการแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ ได้ดำเนินการสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง สำหรับจัดเก็บ รักษาโบราณวัตถุจำนวนมากที่ได้จากการขุดค้นครั้งใหญ่ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างนักโบราณคดีไทยและอเมริกัน เมื่อปี 2517-18 เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ที่มีค่าเช่นนี้เอาไว้และให้เป็นมรดกล้ำค่าแด่คนรุ่นหลังต่อไป จนกระทั่งใน พ.ศ.2524 มีการเปิดให้สาธารณชนได้เข้าชม โดยพื้นที่ในการจัดแสดงและการให้บริการปรากฏในสัดส่วนภายในอาคารต่าง ๆ ดังนี้
1. อาคารสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นส่วนให้บริการทั่วไปและนิทรรศการหมุนเวียน
2. อาคารกัลยาณิวัฒนา เป็นส่วนจัดแสดงนิทรรศการถาวร ประกอบด้วยเนื้องหาต่างๆ จำแนกเป็ฯ 9 ส่วนด้วยดัน


ที่มา: https://www.isangate.com/
ส่วนที่ 1 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชกับบ้านเชียง

จัดเเสดงเรื่องราวเมื่อครั้งสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรหลุมขุดค้นทางโบราณคดีบ้านเชียง



การดำเนินงานด้านโบราณคดีที่ผ่านมา



ส่วนที่ 2 การดำเนินงานทางโบราณคดีบ้านเชียง

จัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาของการทำงานโบราณคดี ณ ที่แห่งนี้ ผ่านลำดับเวลาและเหตุการณ์พร้อมผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ






จำลองห้องปฏิบัติการทางโบราณคดี
ส่วนที่ 3 การปฏิบัติทางโบราณคดีที่บ้านเชียง

จัดแสดงบรรยากาศการทำงาน ณ หลุมขุดค้น มีเครื่องมือที่ใช้ในการขุดค้นของนักโบราณคดี พร้อมทั้งมีวัตถุจำลองให้ได้ชมที่เสมือนจริงเป็นอย่างมาก



จำลองการทำงานในหลุมขุดค้น





ส่วนที่ 4 บ้านเชียง : หลุมขุดค้นทางโบราณคดี

จัดแสดงหลุมขุดค้นจำลองและการปฏิบัติงานทางโบราณคดีในขั้นตอนต่างๆ เช่น การจดบันทึกหลักฐาน การถ่ายภาพ ซึ่งสามารถที่จะเดินเข้าไปชมได้อย่างใกล้ชิดกับกระบวนการปฏิบัติงานทางโบราณคดีของนักโบราณคดี






แสดงโบราณวัตถุจากหลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีใน
ส่วนที่ 5 โบราณวัตถุจากการขุดค้นทางโบราณคดีที่วัดโพธิ์ศรีใน

จัดแสดงโบราณวัตถุที่พบจากการขุดค้นที่วัดโพธิ์ศรีในและถูกนำมาจัดแสดงตามอายุสมัย ทั้งภาชนะดินเผา เครื่องมือเครื่องประดับที่ทำจากหิน เครื่องประดับสำริดและเครื่องมือเหล็ก เป็นต้น







ภาพจำลองวิถีชีวิต เช่น การทำภาชนะดินเผา การทอผ้า เป็นต้น
ส่วนที่ 6 วัฒนธรรมบ้านเชียงยุคก่อนประวัติศาสตร์  

จัดแสดงหุ่นจำลองสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตของมนุษย์ในวัฒนธรรมบ้านเชียงในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ทั้งการล่าสัตว์ การเกษตรกรรม การทำภาชนะดินเผา การทำโลหะกรรม และการทอผ้า จัดแสดงร่วมกับหลักฐานทางโบราณคดีที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่น เครื่องมือทางการเกษตร    อีกทั้งยังมีกระดูกสัตว์ป่าโบราณอีกด้วย





ภาพแสดงวัตถุโบราณและสิ่งของต่าง ๆ ในสมัยนั้น
ส่วนที่ 7 บ้านเชียง : การค้นพบยุคสำริดที่สาบสูญ 

มีการนำเสนอหลักฐานทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีการค้นพบในเเถบเอเชียอาคเนย์ จนกระทั่งค้นพบยุคสำริดของวัฒนธรรมบ้านเชียง และแสดงวิวัฒนาการของเครื่องปั้นดินเผาจากสมัยแรก สมัยกลาง จนถึงสมัยหลัง โดยรูปแบบที่เราเห็นกันจนชินตานั้นไม่ว่าจะในหนังสือ อินเทอร์เน็ต บทความที่อ่าน กระทั่งวัตถุจำลองที่นำเสนอจังหวัดอุดรฯ หรือแม้เเต่ของฝากที่ทำเป็นเครื่องปั้นดินเผา ล้วนเป็นเครื่องปั้นดินเผาลายเขียนสีที่เห็นในสมัยหลัง

ภาพแสดงภาชนะเครื่องปั้นดินเผา
ส่วนที่ 8 บ้านเชียง : มรดกโลก

จัดแสดงเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ที่ได้รับการยกย่องและประกาศให้เป็นมรดกโลกในด้านวัฒนธรรม ลำดับที่ 359 เมื่อ พ.ศ.2535 มีเครื่องปั้นดินเผาและวัตถุโบราณอื่นๆ จัดแสดงภายในตู้กระจก




ภาพแสดงแผนที่การกระจายตัวของวัฒนธรรมบ้านเชียงในจุดต่าง ๆ
ส่วนที่ 9 การกระจายตัวของวัฒนธรรมบ้านเชียง

จัดแสดงโบราณวัตถุ จากการสำรวจของกรมศิลปากร ตั้งแต่ พ.ศ.2515 เพื่อศึกษาการกระจายตัวของวัฒนธรรมบ้านเชียงในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณแอ่งสกลนคร ปัจจุบันมีการค้นพบเเหล่งโบราณคดีวัฒนธรรมบ้านเชียงมากกว่า 127 แหล่ง โดยกระจายอยู่อย่างหนาแน่นตามลุ่มแม่น้ำสำคัญในเขตจังหวัดอุดรธานี หนองคายและสกลนคร


3. อาคารนิทรรศการไทพวน (ส่วนจัดแสดงที่ 10)

นำเสนอเรื่องราวความเป็นมา วิถีชีวิต เอกลักษณ์ ภูมิปัญญาและประเพณีของชาวไทพวน ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่บ้านเชียงราว 200 ปีที่ผ่านมา โดยเป็นกลุ่มที่ให้ชื่อหมู่บ้านแห่งนี้ว่า "บ้านเชียง" นั่นเอง








เวลาทำการ
เปิด : วันอังคาร - วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
เวลา : 09.00 น. - 16.00 น.
ปิด : วันจันทร์

อัตราค่าเข้าชม
คนไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 150 บาท
ยกเว้น นักเรียน นักศึกษาในเครื่องแบบ ผู้สูงอายุ(ชาวไทย) ภิกษุ สามเณร และนักบวชในศาสนาต่าง ๆ


เรือนไทพวน

หมุดหมายที่สอง : เรือนไทพวน (Tai Puan Ethnic House)


สถานที่ต่อมาที่เราได้ไปเยี่ยมชม คือ เรือนไทพวน จากเดิมบ้านหลังนี้เป็นของนายพจน์ มนตรีพิทักษ์ ผู้ที่อนุญาตให้กรมศิลปากรดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีในที่ดินดังกล่าว พร้อมทั้งมอบบ้านไทพวนหลังนี้ให้กรมศิลปากรอนุรักษ์ไว้และปรับปรุงเป็นอนุสรณ์สถานเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินมายังหลุมขุดค้นแห่งนี้

เรือนไทพวนของนายพจน์ มนตรีพิทักษ์

ซึ่งสถานที่แห่งนี้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นที่แสดงถึงการตั้งถิ่นฐานของ "ชาวไทพวน" ที่อพยพเข้ามาอยู่อาศัยบนผืนดินแห่งนี้ เมื่อช่วงต้นของสมัยรัตนโกสินทร์ราว 200 ปีก่อน และชาวไทพวนได้ตั้งชื่อให้แก่หมู่บ้านแห่งนี้ว่า "บ้านเชียง" และได้อยู่อาศัยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

บ้านไทพวนหลังนี้เป็นเรือนไม้จริง ด้วยลักษณะที่เป็นหลังคาจั่วมุงด้วยแป้นเกล็ด ยกใต้ถุนสูง ฝาไม้ตีซ้อนเกล็ด หน้าต่างเป็นบานคู่ไม้ขนาดเล็ก ตัวเรือนแต่ละหลังเชื่อมต่อกันด้วยชานไม้ และมียุ้งข้าวแยกเป็นอีกหนึ่งหลัง เรือนชาวไทพวนจะใช้บันไดพาดกับชานด้านบนและด้านล่างในการขึ้นลง และจะเก็บบันไดขึ้นบนเรือนในตอนกลางคืนเพื่อความปลอดภัย และเป็นรูปแบบหนึ่งของเรือนพื้นถิ่นในประเทศไทย


*ถ้าจะเข้าไปชมภายในบริเวณบ้าน ต้องได้รับอนุญาตจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียงก่อน

หลุมขุดค้นกลางแจ้งทางโบราณคดีวัดโพธิ์ศรีใน

หมุดหมายที่สาม : หลุมขุดค้นทางโบราณคดีที่วัดโพธิ์ศรีใน (Archaeological site at Pho Sri Nai Temple)


ภาชนะลายเขียนสีที่ฝังร่วมกับโครงกระดูก
สำหรับสถานที่สุดท้ายที่เราได้ไปเยี่ยมชม คือ หลุมขุดค้นทางโบราณคดีที่วัดโพธิ์ศรีใน ตั้งอยู่ห่างจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียงไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 500 เมตร เป็นสถานที่ที่กรมศิลปากรได้ดำเนินการปรับปรุงหลุมขุดค้นที่วัดโพธิ์ศรีในให้เป็นพิพิธภัณฑสถานกลางเเจ้งแห่งเเรกของไทย เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็นและศึกษาสภาพหลุมขุดค้น ร่องรอยการฝังศพ ความเชื่อเกี่ยวกับความตาย วัตถุสิ่งของที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

แม้ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ขุดโบราณวัตถุต่างๆ ขึ้นหมดแล้ว ที่เห็นอยู่ในปัจจุบันเป็นการจำลองหลุมขึ้นใหม่ เนื่องจากความผุกร่อนของโบราณวัตถุจากธรรมชาติที่อาจสร้างความเสียหายมากขึ้นในระยะยาว อย่างไรก็ตามพื้นที่ขุดค้นนี้ได้แสดงให้เห็นถึงพิธีกรรมการฝังศพรวมทั้งโบราณวัตถุต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความตายของชาวบ้านเชียงในยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่หาดูได้ยาก

เวลาทำการ
เปิดให้บริการทุกวัน
เวลา : 09.00 น. - 18.00 น.
ปิด : วันจันทร์

อัตราค่าเข้าชม
ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 150 บาท
ยกเว้น นักเรียน นักศึกษาในเครื่องแบบ ผู้สูงอายุ(ชาวไทย) ภิกษุ สามเณร และนักบวชในศาสนาต่าง ๆ


จากการมาเยี่ยมชมแหล่งมรดกโลกเพียงหนึ่งเดียวในภาคอีสานที่จังหวัดอุดรธานี ทำให้เราได้ตระหนักถึงสิ่งที่มนุษย์ในยุคก่อนได้รังสรรค์เอาไว้ ในรูปแบบของวัฒนธรรม ความคิดความเชื่อ ภูมิปัญญาในการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งต่างๆ มากมาย เป็นเรื่องน่าทึ่งที่คนเมื่อหลายพันปีสามารถสร้างสรรค์วัฒนธรรมที่ไม่เพียงแค่ตอบสนองต่อการดำรงชีพ แต่ยังมีความคิด ความเชื่อ และความงาม แฝงไว้ในร่องรอยซากวัตถุโบราณที่แตกหัก ที่หลงเหลือไว้ให้พวกเราได้เรียนรู้และต่อยอดความรู้ พวกเราจึงควรช่วยกันอนุรักษ์สิ่งที่มีค่าเช่นนี้ให้ดำรงอยู่เพื่ออนุชนคนรุ่นหลังจะได้ศึกษาและสืบทอดต่อไปในอนาคต


อ้างอิง

บ้านเชียง มรดกโลก. (มปก.). ประวัติความเป็นมาบ้านเชียง. สืบค้นเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2562, จาก
http://goo.gl/StJSc3.

สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์. (2559). บ้านไทพวน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง. สืบค้นเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2562, จาก http://asaconservationaward.com/

หมายเหตุอาเซียน. (มปก.). มรดกในไทย 1 : แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง. สืบค้นเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2562, จาก http://aseannotes.blogspot.com/2014/07/1_2378.html.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น