วันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

กราบสักการะพระบรมธาตุนาดูน สืบค้นร่องรอยพระพุทธศาสนาที่เมืองโบราณนครจำปาศรี


เมื่อมีโอกาสเดินทางมาถึงจังหวัดมหาสารคาม สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่พวกเราจะพลาดไม่ได้ นั่นคือ การแวะมากราบนมัสการ "พระบรมธาตุนาดูน" ศาสนสถานสำคัญแห่งดินแดนนครจำปาศรี ศูนย์กลางพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมทวารวดีเมื่อกว่าพันปีที่ผ่านมา ปัจจุบันได้กลายเป็นสถานที่สำคัญที่ชาวมหาสารคามและผู้มีจิตศรัทธาทั่วประเทศ เดินทางแวะเวียนมาสักการบูชาอย่างไม่ขาดสาย


การเรียนรู้นอกสถานที่ที่พระบรมธาตุนาดูนและพิพิธภัณฑ์นครจำปาศรี ตำบลพระธาตุ อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นส่วนหนึ่งในรายวิชา 428 333 แหล่งท่องเที่ยวตามประวัติศาสตร์ไทย (Historical Sites in Thai History) ทางหลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดขึ้นสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 3 เอกประวัติศาสตร์เพื่อการท่องเที่ยว  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ให้นักศึกษาได้เรียนรู้เกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวตามยุคสมัยประวัติศาสตร์นอกสถานที่ ถือได้ว่าเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ผ่านการฝึกเป็นมัคคุเทศก์ และฝึกใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการท่องเที่ยว

การค้นพบพระบรมสารีริกธาตุในผอบทองคำ โบราณวัตถุที่มีอายุมากกว่า 1,300 ปี ที่บ้านนาดูน อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม นับเป็นเรื่องที่โด่งดัง และเรียกศรัทธาจากมหาชนไม่เฉพาะแต่ในจังหวัดมหาสารคามเท่านั้น จนนำมาสู่การสร้างพุทธมณฑลอีสาน โดยมีพระบรมธาตุนาดูนเป็นศูนย์กลาง

ประวัติการค้นพบพระบรมสารีริกธาตุ และการก่อสร้างพระบรมธาตุนาดูน อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม

ผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุได้ขุดพบโดยบังเอิญ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ.2522 บนที่นาของนายทองดี ปะวะภูตา ราษฎรบ้านนาดูน จากการขุดค้นพบสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ รวมถึงพระพุทธรูป พระพิมพ์ลายหลายแบบจำนวนมาก กรมศิลปากรจึงได้สันนิษฐานว่า บริเวณนี้เดิมเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณนครจำปาศรี ซึ่งมีความสำคัญในฐานะศูนย์กลางพุทธศาสนาและวัฒนธรรม ตั้งแต่สมัยทวารวดี ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-15

พระบรมสารีริกธาตุที่ขุดพบ
ลักษณะของสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ค้นพบทำด้วยทองสัมฤทธิ์ แยกเป็น 2 ส่วน ดังนี้

1. ตัวสถูปหรือองค์ระฆัง แบ่งออกเป็น 2 ตอน คือ ตัวสถูปเป็นส่วนที่บรรจุพระอังคาร (ขี้เถ้า) เทียนดอกไม้ และตอนคอสถูปเป็นส่วนที่บรรจุผอบพระบรมสารีริกธาตุ โดยผอบจะบรรจุพร้อมกัน 3 ชั้น คือ ผอบทองคำ จะซ้อนอยู่ในผอบเงิน ผอบเงินจะซ้อนอยู่ในผอบทองสัมฤทธิ์ ทุกผอบมีฝาปิดมิดชิด ภายในผอบทองคำมีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุ 1 องค์ มีลักษณะเป็นเกล็ดสีขาวขุ่นขนาดเท่าเมล็ดข้าวสารหักครึ่ง หล่อเลี้ยงไว้ด้วยน้ำมันจันทน์ เมื่อเปิดออกมาจะมีกลิ่นหอมมาก

2. ส่วนยอด ทำด้วยทองสัมฤทธิ์กลมตัน เป็นปล้องไฉนลูกแก้วและปลียอด ตอนต้นทำเป็นเกลียวสามารถปิดประกอบกับส่วนตัวองค์สถูปได้พอดี

ต่อมารัฐบาลอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างพระบรมธาตุนาดูนขึ้นในบริเวณที่ขุดพบสถูป เนื้อที่ 902 ไร่ โดยใช้สถูปที่ค้นพบมาเป็นแบบในการก่อสร้างพระบรมธาตุนาดูน องค์พระธาตุมีความสูง 50.50 เมตร จำลองรูปทรงแบบสมัยทวารวดี ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดพบ (พระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานอยู่ที่ชั้นที่ 8 จากทั้งหมด 16 ชั้น) ก่อสร้างเสร็จเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2530 โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาประกอบพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ขึ้นประดิษฐานไว้ในองค์พระธาตุนาดูน เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530



นอกจากนี้ พื้นที่โดยรอบยังได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางส่งเสริมพระพุทธศาสนา และศิลปวัฒนธรรมของภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกด้วย จึงเรียกขานว่าเป็น “พุทธมณฑลอีสาน” รอบองค์พระธาตุมีบริเวณกว้างขวาง จัดแต่งเป็นสวนรุกขชาติ ปลูกต้นไม้ในพุทธประวัติ รวมถึงการจัดสร้างสังเวชนียสถานเพื่อรำลึกถึงสถานที่สำคัญต่างๆ เช่น สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน โดยรอบพระบรมธาตุ ซึ่งนับเป็นสถานที่ที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาแห่งหนึ่งของประเทศและของชาวมหาสารคาม

จุดเด่น หากเป็นเรื่องของสถาปัตยกรรม นับว่าเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ทำให้เราได้เห็นถึงลักษณะพระธาตุนาดูนจำลองแบบจากสถูปสำริด ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ โดยมีฐานประยุกต์แบบศิลปะทวารวดี ส่วนในเรื่องของการจัดระเบียบสถานที่ ถือว่าจัดได้เหมาะสม กล่าวคือ มีการจัดแบ่งเป็นโซน ๆ เช่น โซนฝั่งนี้คือโซนทำบุญ โซนฝั่งตรงข้ามเป็นฝั่งเสี่ยงโชคชะตา (เสี่ยงเซียมซี) โซนถัดมาเป็นสวนรุกขชาติ เป็นต้น พื้นที่โดยรอบมีขนาดกว้างขวาง สะอาด ร่มรื่น เหมาะแก่การมาสักการะบูชา และใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ

ข้อเสนอแนะ บริเวณโดยรอบของพระธาตุนาดูนมีสถานที่สำคัญๆ มากมาย แต่ด้วยระยะทางที่ค่อนข้างไกล น่าจะมีห้องน้ำ และที่นั่งสำหรับการพักการเดินทางเป็นจุดๆ เพื่ออำนวยความสะดวกโดยเฉพาะกับผู้สูงวัย

หนึ่งในสังเวชนียสถานจำลอง "สถานที่แสดงปฐมเทศนา" ที่เมืองสารนาถ แสดงโดยสัญลักษณ์พระธรรมจักร
จุดทำบุญประจำวันเกิด เป็นแบบทอดกฐิน

หลังจากที่พวกเราได้ไปศึกษา สำรวจ และสักการะพระธาตุนาดูนแล้ว  พวกเรายังได้มีโอกาสไปพิพิธภัณฑ์นครจำปาศรี ด้วย แต่ยังมีสถานที่น่าสนใจอื่น ๆ เช่น สถาบันวิจัยรุกขเวช และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพัน ที่อยู่บริเวณโดยรอบพระธาตุนาดูน และเป็นสถานที่ที่น่าสนใจเข้าไปศึกษา แต่เนื่องจากพวกเรามีเวลาจำกัดจึงไม่ไปเยี่ยมชมครบทุกที่ รอไว้มีโอกาสมากขึ้นในคราวหน้าคงไม่พลาดแน่นอน

ก่อนทางเข้าพิพิธภัณฑ์ จะมีป้ายบอกทางชัดเจนตลอดทาง
ป้ายด้านหน้าทางเข้าพิพิธภัณฑ์

พิพิธภัณฑ์นครจำปาศรี 

พิพิธภัณฑ์นครจำปาศรี สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2534 ตั้งอยู่ที่ทิศใต้ขององค์พระธาตุนาดูน ซึ่งเป็นสถานที่จัดแสดงและเก็บรวบรวมรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และเป็นแหล่งข้อมูลอาณาจักรจำปาศรี นครโบราณสมัยทวารวดี ลักษณะของพิพิธภัณฑ์เป็นอาคารทรงไทยประยุกต์ 2 หลังเชื่อมต่อกัน ภายในมีการจัดแสดงเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านสื่อวีดิทัศน์ โมเดลจำลอง และบอร์ดข้อมูล โดยแบ่งการนำเสนอการจัดแสดงออกเป็น 4 ส่วน ดังนี้

แผนผังแสดงพัฒนาการเมืองโบราณนครจำปาศรี
ส่วนที่ 1 : พุทธศาสนศาสตร์แห่งบูรพาทิศ

ส่วนนี้จะจัดแสดงความเป็นมาและพัฒนาการของเมืองโบราณนครจำปาศรี ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยวัฒนธรรมเขมร ซึ่งมีความสำคัญในฐานะเป็นศูนย์กลางชุมชนท้องถิ่น และพุทธศาสนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีกทั้งยังได้กล่าวถึงพุทธประวัติของพระบรมศาสดาที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธภูมิที่สำคัญคือ สังเวชนียสถานทั้ง 4 เมืองอีกด้วย
มีการจัดแสดงสังเวชนียสถานจำลองด้วย


หุ่นจำลองพุทธมณฑลอีสาน
ส่วนที่ 2 : พระบรมสารีริกธาตุ

ส่วนที่ 2 จะจัดแสดงข้อมูลเกี่ยวกับความสำคัญของพระบรมสารีริกธาตุ โดยกล่าวถึงความหมายและการจำแนกประเภทของพระบรมสารีริกธาตุตามคัมภีร์สุมังคลวิลาสินี ซึ่งถูกจำแนกออกเป็น 2 ประเภท คือพระบรมสารีริกธาตุที่ไม่กระจัดกระจาย และบรมสารีริกธาตุที่กระจัดกระจาย จนได้กลายเป็นที่มาของคติการบูชาพระธาตุและการสร้างมหาธาตุเจดีย์


อุปกรณ์พิธีวางศิลาฤกษ์ (นับจากด้านซ้าย) :  ข้อความที่จารึกลงบนแผ่นเงิน
ค้อนตอกไม้มงคล และ ไม้มงคล 9 อย่าง

ส่วนที่ 3 : การค้นพบอันยิ่งใหญ่ที่นาดูน

ส่วนนี้ จัดแสดงเกี่ยวกับการค้นพบพระบรมสารีริกธาตุ 1 องค์ ขนาดเท่าเม็ดข้าวสารหักสีขาวขุ่นคล้ายแก้วมุกดา บรรจุในสถูปสำริดและพระพิมพ์ดินเผาสมัยทวารวดี โดยจัดทำหุ่นจำลองเนินโบราณสถานและจัดแผนผังตำแหน่งสถูปสำริดประกอบวีดิทัศน์สรุปเหตุการณ์สำคัญที่ยิ่งใหญ่ ในครั้งนี้ได้จัดแสดงเรื่องพระพิมพ์ในประเทศไทย และภาพพิมพ์กรุพระ ซึ่งจำแนกรูปได้ 39 พิมพ์ โดยได้จำลองพระพิมพ์ที่มีรูปแบบสำคัญ เช่น พระพิมพ์ปางแสดงธรรม พระพิมพ์แสดงภาพเล่าเรื่องยกปาฏิหาริย์และจัดทำวีดิทัศน์พระบรมธาตุนาดูน

พระพิมพ์จำลอง : พระพิมพ์ปางยมกปาฏิหาริย์

ส่วนที่ 4 : พุทธมณฑลอีสาน

ส่วนสุดท้าย ได้จัดแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของโครงการพุทธมณฑลอีสาน ซึ่งจัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานและเป็นราชสักการะ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระชนมายุครบ 60 พรรษา ในปีพ.ศ. 2530 โดยมีการจัดสร้างพระบรมธาตุนาดูน เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและจัดตั้งพิพิธภัณฑ์นครจำปาศรี รวมทั้งพัฒนาพื้นที่โดยรอบเพื่อเป็นศูนย์กลางส่งเสริมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือเรียกว่า "พุทธมณฑลอีสาน" นั่นเอง

จุดเด่น ของพิพิธภัณฑ์นครจำปาศรีที่เห็นได้ชัดคือ มีการจำลองสถานที่สังเวชนียสถานทั้ง 4 เมืองไว้ในพิพิธภัณฑ์ รวมถึงมีสื่อวีดิทัศน์เพื่อประกอบความเข้าใจ ทำให้เห็นภาพตามมากยิ่งขึ้น ซึ่งพิพิธภัณฑ์ที่อื่นๆ ส่วนใหญ่มักจะนำข้อมูลมาใส่แผ่นป้าย บางครั้งอาจจะทำให้ผู้ที่ศึกษายังไม่เข้าใจได้ดีพอ เพราะข้อมูลน้อยเกินไป

ข้อเสนอแนะ การจัดแบ่งโซนทั้ง 4 ยังไม่ชัดเจนมากนัก หากมีป้ายแจ้งการจัดแบ่งโซน จะทำให้ผู้ที่มาศึกษามีความเข้าใจมากขึ้นกว่าเดิม

เวลาทำการที่พิพิธภัณฑ์นครจำปาศรี
เปิดให้บริการทุกวัน ยกเว้นวันอาทิตย์
เปิดตั้งแต่เวลา : 08.30 น. - 16.30 น.

อัตราค่าเข้าชม
ไม่มีค่าบริการ

สำหรับท่านใดที่ต้องการมานมัสการพระธาตุนาดูน สามารถมาตามแผนที่นี้ได้ (กดที่ภาพ เพื่อดูภาพที่ชัดเจนขึ้น)

อ้างอิงรูปภาพแผนที่
หรือ

อ้างอิงรูปภาพแผนที่

นอกจากนี้ หากท่านใดที่ต้องการมาสักการะพระธาตุนาดูน ขอแนะนำว่าในช่วงวันที่ 16-24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ที่จะถึงนี้ ที่พระธาตุนาดูนจะจัดเทศกาลวันมาฆบูชาขึ้น โดยวันที่ 16 กุมภาพันธ์ จะมีการแสดงพิธีเปิด โดยมีดาราและเหล่านักแสดงมาร่วมงานอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ส่วนวันที่ 19 กุมภาพันธ์ จะมีการทำบุญตักบาตร เวียนเทียนเนื่องในวันมาฆบูชาอีกด้วย และที่พิเศษสุดคือ ทุก ๆ ท่าน จะได้รับชมมหกรรมรถเกี่ยวข้าวที่หาชมที่ไหนไม่ได้นอกจากที่นี่เท่านั้น 




สุดท้าย สิ่งที่ไม่ควรพลาดหากท่านได้มาสักการะพระธาตุนาดูนหรือเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์นครจำปาศรี นั่นคือ การได้ลองชิมน้ำมะพร้าวปั่น เพราะทุกร้านจะใช้น้ำมะพร้าวแท้ หอมกลิ่นมะพร้าวเผา รับรองได้ว่าท่านจะได้รสสัมผัสที่ต่างจากน้ำมะพร้าวปั่นของที่อื่นอย่างแน่นอน 


อากาศร้อน ๆ แบบนี้ ร้านน้ำจึงขายดีเป็นพิเศษ
ที่จอดรถมีขนาดกว้างใหญ่ คาดว่าเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว
โดยเฉพาะในวันเทศกาลสำคัญ ๆ

จากการมาเยี่ยมชมสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ของชาวมหาสารคามคือ พระบรมธาตุนาดูน ทำให้เห็นถึงความพยายามในการสร้างสิ่งใหม่โดยพยายามคงรูปแบบให้เหมือนของเก่าดั้งเดิมมากที่สุด โดยการจำลองพระบรมธาตุนาดูนมาจากสถูปสำริดที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และส่วนประกอบอื่นๆ ก็ประยุกต์ตามรูปแบบของศิลปะทวารวดี เนื่องจากพื้นที่นี้เดิมเป็นนครจำปาศรีที่เคยรุ่งเรืองในสมัยทวารวดีมาก่อน ส่วนในเรื่องการจัดรูปแบบของพิพิธภัณฑ์ของที่นี่มีความโดดเด่น อาทิ มีการให้ความรู้ในรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งสื่อวีดิทัศน์ การจัดแสดงโบราณวัตถุ ภาพจำลอง โปสเตอร์ขนาดใหญ่ รวมถึงการจำลองสถานที่สังเวชนียสถาน เป็นต้น  ในท้ายที่สุดหากใครได้มีโอกาสมาสักการะพระธาตุนาดูนแล้ว ท่านจะได้สัมผัสถึงจิตศรัทธาของผู้คนทั้งจากชาวมหาสารคาม และจากประชาชนทั่วทุกสารทิศที่หลั่งไหลมากราบสักการะพระบรมธาตุนาดูนอย่างไม่ขาดสาย ชี้ให้เห็นว่าพระพุทธศาสนายังคงเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คนได้เสมอ ไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม


อ้างอิง


สำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น. (มปก.). พระธาตุนาดูน . สืบค้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2562, จาก http://cac.kku.ac.th/esanart/19%20Province/Maha%20Sarakham/PhathatNadun/MS%20PhathatNadun.html.

ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง. (มปก.). พระธาตุนาดูน . สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2562, จาก http://www.rd.go.th/mahasarakham/59.0.html.

มิวเซียมไทยแลนด์. (มปก.). พิพิธภัณฑ์นครจำปาศรี . สืบค้นเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2562, จาก http://www.museumthailand.com/th/museum/Metropolitan-Museum-Chamba-Si.

โอเชี่ยนสไมล์ทัวร์. (มปก.). พระธาตุนาดูน . สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2562, จาก http://www.oceansmile.com/E/Mahasarakam/PhatadNadun.htm.



ร้านค้ามีมากมายให้เลือกหลากหลาย













โดยรอบบริเวณพระธาตุ จะมีแผ่นป้ายที่แสดงหลักธรรมในการดำเนินชีวิต

แบบจำลองการใส่บาตร ทุกคนสามารถใส่เหรียญได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น