วันพฤหัสบดีที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ตามรอยอารยธรรมเขมรโบราณที่ "กู่สันตรัตน์"

ร่องรอยอารยธรรมของเขมรโบราณมีปรากฏเป็นพื้นที่กว้าง โดยเฉพาะบริเวณอีสานใต้ พบการสร้างปราสาทศิลาแลงขนาดเล็กหรือที่เรียกว่า "กู่" กระจายอยู่ทั่วไป เนื่องจากในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 ซึ่งตรงกับสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นช่วงที่อารยธรรมเขมรเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก และกู่สันตรัตน์ ก็เป็นหนึ่งในโบราณสถานที่ถูกสร้างขึ้นตามแนวเส้นทางโบราณที่ตั้งต้นจากเมืองพระนครไปยังเมืองต่างๆ โดยเฉพาะในภาคอีสาน

รายงานโดย  อภัสสร สินโพธิ์

การเรียนรู้นอกสถานที่แหล่งโบราณสถานกู่สันตรัตน์ ตำบลกู่สันตรัตน์ อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นส่วนหนึ่งในรายวิชา 428 333 แหล่งท่องเที่ยวตามประวัติศาสตร์ไทย (Historical Sites in Thai History) ทางหลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดขึ้นสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 3 เอกประวัติศาสตร์เพื่อการท่องเที่ยว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ให้นักศึกษาได้เรียนรู้เกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวตามยุคสมัยประวัติศาสตร์นอกสถานที่ ถือได้ว่าเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ผ่านการฝึกเป็นมัคคุเทศก์ และฝึกใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการท่องเที่ยว



การเดินทางมาศึกษาและเยี่ยมชมวัฒนธรรมเขมรที่กู่สันตรัตน์ในครั้งนี้ ยังรวมถึงพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกู่สันตรัตน์ที่ตั้งอยู่ข้างๆ กันด้วย เป็นสองที่ที่เมื่อมาถึงอำเภอนาดูนแล้วไม่ควรพลาด ก่อนที่จะไปเยี่ยมชมร่องรอยอารยธรรมทวารวดีที่พระบรมธาตุนาดูนต่อไป

กู่สันตรัตน์

สถานที่แรกพวกเรามาแวะชมกันคือ "กู่สันตรัตน์" ตั้งอยู่ที่ตำบลกู่สันตรัตน์ อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม เป็นโบราณสถานที่ถูกสร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งราชอาณจักรขอม ในช่วงนี้อารยธรรมของเขมรมีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุด เพราะว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้ทรงโปรดให้สร้างถนนเชื่อมระหว่างเมืองพระนครและเมืองต่างๆ และโปรดให้สร้างที่พักคนเดินทาง "บ้านมีไฟ" หรือ "ธรรมศาลา" ควบคู่ไปกับ "อโรคยาศาล" หรือ "สถานพยาบาลชุมชน" ซึ่งการสร้าง อโรคยาศาล อาจเป็นจุดมุ่งหมายหนึ่งของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในการแผ่ขยายอำนาจทางการเมืองและเผยแผ่พระพุทธศาสนามหายานไปยังพื้นที่ต่างๆ และหลักฐานจากสิ่งก่อสร้างเหล่านี้อาจบ่งบอกได้ว่า ที่ตั้งของศาสนสถานเป็นชุมชนที่มีความสัมพันธ์กับเมืองพระนครอย่างใกล้ชิดทั้งในด้านการปกครองและความสัมพันธ์ทางเครือญาติ

กู่สันตรัตน์จึงเป็นหนึ่งในอโรคยาศาลที่ถูกสร้างขึ้นตามเส้นทางแสวงบุญ ซึ่งเป็นศิลปะแบบเขมรโบราณที่เจริญรุ่งเรืองในยุคสมัยสุดท้าย โดยมีแผนผังแบบเดียวกับอโรคยาศาลที่พบทั่วไป อันประกอบด้วย ปรางค์ประธาน หรือปราสาทประธาน บรรณาลัย โคปุระ หรือซุ้มประตู กำแพงแก้ว และสระน้ำ และกรมศิลปากรก็ได้ประกาศขึ้นทะเบียนกู่สันตรัตน์เป็นโบราณสถานอย่างถูกต้องเมื่อปี พ.ศ. 2478

ตัวปราสาทประธานตั้งอยู่บนฐานชั้นเดียวสร้างด้วยศิลาแลง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก และมีกำแพงล้อมรอบลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านหน้าปราสาททางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีสระสี่เหลี่ยม ขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 12 เมตร ซึ่งถือว่าเป็นส่วนประกอบสำคัญของขอมตามคติความเชื่อเรื่องการสร้างปราสาทต่างๆ ที่นอกจากบรรณาลัยแล้วก็จะมีการขุดสระน้ำ สำหรับกักเก็บน้ำไว้ใช้สอย

ทางด้านทิศตะวันออก ซึ่งเป็นด้านหน้าปราสาทมีซุ้มประตูทางเข้า หรือ โคปุระ ก่อด้วยศิลาแลง ถัดมาเป็นส่วนของประตูทางเข้าสู่ตัวปราสาทประธาน ปรากฏแผ่นทับหลังอยู่เหนือซุ้มประตู อีกทั้งยังมีเสาประดับกรอบประตูทั้งสองข้าง แผ่นทับหลังและเสาประดับกรอบประตูทำด้วยหินทราย แต่ไม่มีการสลักลายใดๆ ทั้งสิ้น เหมือนกับว่ายังทำไม่เสร็จ

ตัวปราสาทมีลักษณะรูปสี่เหลี่ยมย่อมุม มีประตูทางเข้าอยู่ทางทิศตะวันออก ส่วนทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตกเป็นประตูหลอก  เมื่อพิจารณาที่ตัวปราสาทประธาน ที่มีการสันนิษฐานว่ายังสร้างไม่เสร็จ ก็เนื่องจากว่าบริเวณด้านหน้าเหนือทับหลังทางเข้าตัวปราสาทประธานนั้น ยังเป็นช่องว่างสามเหลี่ยม เพราะบริเวณนี้เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็จะเป็นหน้าบัน ที่ทำด้วยหินทรายที่มีการสลักลวดลายประกอบ  สิ่งสำคัญต่อมาคือแผ่นทับหลัง ที่ตั้งอยู่เหนือกรอบประตูนั้นมีแผ่นหินทรายวางไว้ แต่ยังไม่มีการสลักลวดลายใดๆ ทั้งสิ้น


โดยทั่วไปแล้ว แผ่นทับหลังต้องมีการสลักลวดลาย หรือสลักภาพประกอบไว้เสมอ หรือแม้แต่เสาประดับกรอบประตูทั้ง 2 ข้าง ก็มักจะมีการสลักลวดลายประกอบไว้ด้วยเหมือนกัน แต่ที่กู่สันตรัตน์พบว่าเสาประดับกรอบประตูฝั่งขาวของปราสาทเท่านั้นที่มีการสลักลวดลายไว้คร่าวๆ ส่วนเสาทางฝั่งซ้ายเป็นแค่แท่งหินทรายเรียบๆ ไม่พบการสลักลวดลายใดๆ

จากลักษณะที่กล่าวมาข้างต้น สันนิษฐานว่า ปราสาทองค์นี้ยังสร้างไม่เสร็จ แต่ช่างได้สร้างไปตามแบบที่เป็นลักษณะเฉพาะของศิลปะแบบเขมร คือแม้ว่าตัวปราสาทประธานจะมีการสร้างด้วยหินทราย หรือหินศิลาแลง แต่ส่วนที่สำคัญทั้ง 3 ส่วน คือ หน้าบัน ทับหลัง และเสาประดับกรอบประตู ต้องทำด้วยหินทรายเสมอ เพราะว่าหินทรายมีคุณสมบัติเหมาะแก่การแกะสลักลวดลายเป็นอย่างยิ่ง


ภายในตัวปราสาทประธานยังพบรูปเคารพพระพุทธไภษัชยคุรุพร้อมกับรูปพระชิโนรสซึ่งตั้งอยู่สองข้าง สร้างขึ้นตามความเชื่อของเขมรโบราณที่ว่า  พระพุทธไภษัชยคุรุสามารถรักษาโรคต่างๆ ให้หายได้  ซึ่งในวัฒนธรรมเขมรโบราณ มีความนับถือพระพุทธไภษัชยคุรุ หรือ พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคต เป็นอย่างมากโดยเฉพาะช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พระองค์ทรงโปรดให้สร้าง พระพุทธไภษัชยคุรุไวทูรยประภา เป็นพระปฏิมาประธานในศาสนสถานที่รักษาผู้ป่วย หรือที่เรียกว่า "อโรคยาศาล" เพื่อให้เป็นที่พึ่งทางจิตใจของชาวเขมรที่มารักษาโรค


ในปัจจุบันกู่สันตรัตน์เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางโบราณสถาน และเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชุมชนบริเวณนั้น และในแต่ละปีชาวบ้านในชุมชนที่เคารพบูชา "เจ้าพ่อสี" ในฐานะ "ผีอารักษ์" ผู้ปกป้องคุ้มครองผู้คนในท้องถิ่น จะร่วมกันจัดงาน "สรงกู่" พร้อมๆ กันกับ "กู่น้อย ศาลานางขาว" ที่อยู่ใกล้กัน ซึ่งก็จะมีผู้คนเข้าร่วมงานและถือโอกาส "แก้บน" ที่เคยบนบานศาลกล่าวไว้กับ "เจ้าพ่อสี"

ในงาน "สรงกู่สันตรัตน์" ปัจจุบันเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และมีกิจกรรมมากมาย เช่น การรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ ขบวนแห่กับแก้กับโกน (แห่ตุ๊กแก) ขบวนย้อนยุค การแข่งขันบั้งไฟ นิทรรศการของกลุ่มแม่บ้าน เพื่อสักการะเจ้าพ่อสีเป็นประจำทุกปี โดยประเพณี "สรงกู่" จะถูกจัดขึ้นทุกปีในช่วงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5

กู่สันตรัตน์นอกจากจะเป็นสถานที่ทางโบราณคดีและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์แล้ว กู่สันตรัตน์ยังเป็นที่เคารพนับถือของคนในชุมชนอีกด้วย ดังเช่นประเพณีสรงกู่ที่จัดอย่างยิ่งใหญ่ในทุกๆ ปี เพื่อแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญและการเคารพบูชาสถานที่แห่งนี้จากรุ่นสู่รุ่น



พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกู่สันตรัตน์


สถานที่ต่อมาที่อยู่ใกล้กัน คือ "พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกู่สันตรัตน์" เป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่เก็บรวบรวมและจัดแสดงโบราณวัตถุต่างๆ ตั้งแต่ยุคนครจำปาศรี และยุคถัดมาในสมัยวัฒนธรรมเขมร จนถึงยุคปัจจุบันที่มีการค้นพบเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันมาเก็บรวบรวมกันไว้  เพื่อบ่งบอกถึงวิถีชีวิตของคนในชุมชนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยตัวพิพิธภัณฑ์แห่งนี้อยู่ห่างจากกู่สันตรัตน์ประมาณ 300 เมตร สามารถเดินถึงกันได้

ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงโบราณวัตถุทั้งที่มาจากกู่สันตรัตน์ พระธาตุนาดูน และโบราณวัตถุอื่นๆ โดยแบ่งออกเป็นห้องต่างๆ ดังนี้

1. ห้องโบราณวัตถุสมัยขอม มี 11 ชิ้น ที่ขุดพบในเขตตำบลกู่สันตรัตน์ เช่น รูปเคารพ พระโพธิสัตย์อวโลกิเตศวร สลักจากหินทราย มีสี่กร ประทับยืนบนฐานโยนี ที่มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์มาก

2. ห้องแสดงโบราณวัตถุที่มาจากกรุพระธาตุนาดูน โดยได้รับอนุญาตจากกรมศิลปากร ให้นำมาจัดแสดงรวม 15 พิมพ์

3. ห้องจัดแสดงโบราณวัตถุอื่นๆ ที่ชาวบ้านขุดพบนำมาบริจาคให้ เช่น เคื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของชุมชน พวกเครื่องจักสาน หม้อ ไห เครื่องมือทางการเกษตร จอบ เสียม กำไร เป็นต้น เป็การรวบรวมสิ่งของตั้งแต่ยุคก่อนมาจนถึงยุคปัจจุบัน




ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เมืองนี้ เนื่องจากมีการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ของคนในอดีตเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อต้องการแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนแห่งนี้ นอกจากนี้ยังถือว่าเป็นสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในเขต อำเภอนาดูน ซึ่งในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเข้าชมจำนวนมากมาย

เวลาทำการ
เปิดให้บริการทุกวัน (ไม่มีวันหยุด)

อัตราค่าเข้าชม
เข้าชมฟรี

การเดินทาง
ระยะทางจาก อำเภอเมือง จังหวัดสารคาม 60 กม. หมายเลขทางหลวง 2040 ถึงแยกทางเข้าอำเภอนาดูนเี้ยวซ้าย 1 กม. หมายเลขทางหลวง 2179 เลี้ยงซ้ายเข้ามา 500 เมตร

การติดต่อ
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกู่สันตรัตน์ ตั้งอยู่ที่ 110 ม. 2 ต.กู่สันตรัตน์ อ.นาดูน จ.มหาสารคาม 44180
ติดต่อสอบถาม 043706510

จากการลงพื้นที่ศึกษาโบราณสถานกู่สันตรัตน์และพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกู่สันตรัตน์นั้น ทำให้เราได้เห็นถึงวิถีชีวิตและความเชื่อของคนในอดีต รวมถึงภูมิปัญญาต่าง ๆ ของคนโบราณที่สร้างขึ้นมาเป็นหลักฐานให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาหรือต่อยอดองค์ความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ในอนาคต และการลงศึกษาในสถานที่จริงในครั้งนี้ ยังเป็นการฝึกประสบการณ์การเป็นมัคคุเทศก์ทางประวัติศาสตร์ที่ต้องลงพื้นที่จริง พร้อมทั้งฝึกการใช้ภาษาอังกฤษในการอธิบายหรือเล่าประวัติความเป็นมาของสถานที่ต่าง ๆ ที่เข้าเยี่ยมชม ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาที่จะนำไปใช้ในการประกอบอาชีพในอนาคต


อ้างอิง

SARAKHAM360 NEWS.(2561). เปิดตำนานนครจำปาศรี พาชมกู่สันตรัตน์ โรงพยาบาลอารยธรรมขอม สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7. สืบค้นเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2562, จาก https://www.sarakham360.com/กูู่สันตรัตน์-นาดูน/.

จังหวัดสารคาม.(2555). กู่สันตรัตน์.  สืบค้นเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2562, จาก www.mahasarakham.go.th/mkweb/index.php/479/227.

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร.(มปก.). พระไภษัชยคุรุ.  สืบค้นเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2562, จาก www.virtualmuseum.finearts.go.th/bangkoknationalmuseums/index.php/th/hilight/39-พระไภษัชยคุรุ.html.

สำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น.(มปก.). กู่สันตรัตน์ บ้านกู่โนนเมือง ตำบลกู่สันตรัตน์ อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม. สืบค้นเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2562, จาก  www.finearts.go.th/fad9/parameters/km/item/กู่สันตรัตน์-บ้านกู่โนนเมือง-ตำบลกู่สันตรัตน์-อำเภอนาดูน-จังหวัดมหาสารคาม-2.html

อโรคยาสถาน.(มปก.). ความเป็นมาอโรคยาศาล. สืบค้นเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2562, จาก www.pharmacy.msu.ac.th/exhibition_new/aroka-his.html.

อีสานร้อยแปด.(2561). กู่สันตรัตน์ มหาสารคาม.  สืบค้นเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2562, จาก  https://esan108.com/กู่สันตรัตน์-มหาสารคาม.html



































ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น