วันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

กู่แก้ว อโรคยาศาลหนึ่งในสามสิบแห่งของภาคอีสาน

ในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ยุคที่ศาสนาพุทธรุ่งเรืองมากที่สุดแห่งเมืองพระนคร ทรงโปรดให้มีการก่อสร้างที่พักคนเดินทาง และอโรคยาศาล หรือสถานพยาบาล ตลอดเส้นทางจากเมืองพระนครไปสู่จุดหมายปลายทางต่างๆ  และกู่แก้วก็เป็นหนึ่งในอโรคยาศาล ในจำนวน 30 แห่งที่กระจัดกระจายทั่วภาคอีสาน อันเป็นผลงานจากภูมิปัญญาของช่างเขมรโบราณที่เชื่อมโยงกับศรัทธาในพระพุทธศาสนาเมื่อกว่า 700 ปีที่ผ่านมา


ารเรียนรู้นอกสถานที่แหล่งโบราณคดีกู่แก้ว อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา 428 333 แหล่งท่องเที่ยวตามประวัติศาสตร์ไทย (Historical Sites in Thai History) ทางหลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดขึ้นสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 3 เอกประวัติศาสตร์เพื่อการท่องเที่ยว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ให้นักศึกษาได้เรียนรู้เกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวตามยุคสมัยประวัติศาสตร์นอกสถานที่ ถือได้ว่าเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ผ่านการฝึกเป็นมัคคุเทศก์ และฝึกการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการท่องเที่ยว



เราเริ่มเดินทางออกจากมหาวิทยาลัยแก่นมุ่งหน้าไปสู่บ้านหัวสระ ตำบลดอนช้าง อำเภอเมืองขอนแก่น เป็นระยะทางประมาณ 23 กิโลเมตร  เพื่อไปศึกษาและเยี่ยมชมวัฒนธรรมเขมรในเขตจังหวัดขอนแก่น เป็นจุดหมายปลายทางแรกสำหรับวันนี้ ก่อนจะเดินทางไปศึกษาปราสาทเปือยน้อย และวัดมัชฌิมวิทยารามที่มีสิมเก่าและฮูปแต้มอายุกว่า 90 ปี ในอำเภอเปือยน้อยและอำเภอบ้านไผ่ตามลำดับ ซึ่งทั้งหมดอยู่ในเขตจังหวัดขอนแก่น

เมื่อเดินทางถึงกู่แก้ว อาจารย์ได้เกริ่นให้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีในเบื้องต้น เพื่อช่วยให้นักศึกษามีความเข้าใจภาพรวมของพัฒนาการศิลปะเขมรมากยิ่งขึ้น จากนั้นจึงเดินเข้าไปชมโบราณสถาน ซึ่งต้องเดินเข้าประตูทางทิศตะวันออก โดยมากโบราณสถานตามแบบเขมรจะนิยมสร้างประตูทางเข้าหันไปทางทิศตะวันออกเสมอ
กู่แก้ว ตั้งอยู่ที่วัดกู่แก้วสามัคคี บ้านหัวสระ ตำบลดอนช้าง เป็นศาสนสถานขนาดเล็กสร้างขึ้นตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 18 โดยเป็นโรงพยาบาลในพุทธศาสนานิกายมหายาน ที่เรียกว่า "อโรคยาศาล" ซึ่งในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรเขมรโบราณ ทรงโปรดฯ ให้สร้างสาธารณูปโภคในอาณาเขตพระราชอาณาจักร เช่น อโรคยศาล (สถานพยาบาลธรรมศาลา (ที่พักคนเดินทาง) หรือที่เรารู้จักในชื่อ บ้านมีไฟ ปรากฏอยู๋ในจารึกปราสาทตาพรหมของประเทศกัมพูชา ว่าอโรคยศาลมีทั้งหมดถึง 102 แห่ง ซึ่งในส่วนภาคอีสานในบ้านเรา พบจำนวน 30 แห่ง และ กู่แก้ว ก็เป็นอโรคยาศาลอีกแห่งที่โปรดฯ ให้สร้างขึ้นเช่นกัน




องค์ประกอบสถาปัตยกรรม

ภายในโบราณสถานกู่แก้ว ประกอบด้วย ปราสาทประธาน บรรณาลัย โบราณวัตถุที่สำคัญ เช่น ประติมากกรรมหินทรายสลักเป็นรูปพระยมทรงกระบือ นารายณ์ทรงครุฑ และศิลาจารึกภาษาสันสกฤตที่ปัจจุบันถูกนำไปเก็บรักษาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น นอกจากกู่แก้วนี้ยังล้อมรอบด้วยแนวกำแพงแก้ว มีโคปุระทางเข้าที่ด้านหน้าทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว และนอกกำแพงที่มุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีสระน้ำกรุด้วยศิลาแลง ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้ 

1. ปราสาทประธาน 

หรือปรางค์กู่แก้ว ที่เป็นจุดศูนย์กลางของโบราณสถาน ซึ่งก่อด้วยศิลาแลงมีหินทรายเป็นส่วนกรอบประตู เสาประดับกรอบประตู และทับหลัง ตัวปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ประกอบด้วยฐานเขียง 2 ชั้น มีการย่อเก็จ ด้านหน้ามีบันได 3 ชั้น และลานเล็กๆ ด้านหน้าปราสาท ตัวปราสาทมีผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส  ประตูทางเข้าด้านหน้ามีกรอบประตูหินทรายที่ผุพังไปตามกาลเวลา และเสาประดับกรอบประตูแปดเหลี่ยมชำรุดเสียหายแทบไม่สามารถมองให้ชัดเจนได้ ส่วนอาคารด้านบนหักพังไม่เห็นรูปทรงเหลือเพียงแต่ฐานให้ชมเท่านั้น

2. บรรณาลัย 

อาจจะใช้เป็นอาคารเก็บข้าวของเครื่องใช้ในพิธีกรรม หรืออาจจะเก็บคัมภีร์สำคัญทางศาสนา ตามที่มีการกล่าวไว้ในศิลาจารึก หรือในบางครั้งอาจเป็นห้องประดิษฐานรูปเคารพอื่นๆ ก็เป็นได้ เนื่องจากบางองค์มีการพบรูปเคารพและฐานตั้งของรูปเคารพอยู่ภายใน บรรณาลัยอยู่ด้านซ้ายของปราสาทประธาน ก่อด้วยศิลาแลง มีผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดยาว 7.50 เมตร ด้านหน้าก่อมุขยื่นออกมา หันหน้าไปทางทิศตะวันตก หรือหันหน้าเข้าหาปราสาทประธาน  

3. โคปุระ 

ประตูซุ้มทางเข้าเชื่อมกับกำแพงแก้วที่ล้อมรอบตัวปราสาท ซึ่งได้ทำเป็นช่องประตูเพื่อใช้เป็นทางเข้า-ออก เรียกว่า โคปุระ โดยอาจทำเป็นแบบซุ้มประตูมีหลังคาทรงสูง หรืออาจเป็นแค่ลานยกพื้นและช่องสำหรับใช้เข้าออก ก่อด้วยศิลาแลง อยู่ด้านทิศตะวันออกของปราสาทประธานหรือด้านหน้า มีผังเป็นรูปกากบาท มีกรอบประตูหินทราย ส่วนยอดของโคปุระหักพังลงไปแล้ว


4.กำแพงแก้ว 


ก่อด้วยศิลาแลงต่อเชื่อมจากโคปุระ มีผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาด 26x38เมตร สูง 4เมตร ส่วนบนก่อยื่นเป็นชั้นบัวตลอดแนวกำแพง เพื่อรองรับทับหลังกำแพงชั้นบนสุด 

5. สระน้ำ 

ส่วนนี้อยู่นอกกำแพงทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นแหล่งเก็บน้ำที่ถูกสร้างขึ้นตามแบบแปลนการก่อสร้างอโรคยาศาล เพื่อประโยชน์ใช้สอยแก่คนในพื้นที่เอง 


ศาสนสถานแห่งนี้แม้ไม่ได้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากนัก อาจเนื่องเพราะไม่ได้เป็นที่รู้จักแพร่หลายของนักท่องเที่ยวทั่วไป แต่ก็เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับชุมชนโดยรอบ ที่มีประเพณี สรงกู่” หรือ กิจกรรมรำบวงสรวงกู่แก้ว เป็นประเพณีที่จัดร่วมกันเป็นประจำทุกปี ในวันขึ้น 14 ค่ำ และ 15 ค่ำ ของเดือนเมษายน  พิธีกรรมนี้ได้เชื่อมโยงผู้คนโดยรอบเข้ากับโบราณสถาน และสืบทอดสู่ลูกหลานจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน



จากการไปเยี่ยมชมโบราณกู่แก้ว ตำบลดอนช้าง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ทำให้เราได้เห็น คุณค่าของโบราณสถาน ที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของผู้คนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  พวกเรามีโอกาสได้เรียนรู้ผ่านร่องรอยประวัติศาสตร์และโบราณคดีจากสถานที่จริง  ทำให้ตระหนักและเห็นคุณค่าแห่งอดีตมากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังได้ฝึกทักษะการเป็นมัคคุเทศก์และการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการท่องเที่ยว ถือว่าเป็นการเรียนรู้ที่คุ้มค่าจริงๆ


รายละเอียดการเดินทาง
รถยนต์ส่วนตัว
จากตัวเมืองขอนแก่นใช้ทางหลวงหมายเลข 12 ไปทางอำเภอบ้านฝาง ผ่านมหาวิทยาลัยขอนแก่นไปประมาณ 11 กิโลเมตร ถึงสี่แยกฉางข้าวให้เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 2062 ไปประมาณ กิโลเมตร แล้วข้ามคลองห้วยหัวหินไปไม่ไกล พบสี่แยกบริเวณบ้านเหล่านาดี ให้เลี้ยวซ้ายผ่านบ้านหว้า บ้านเหล่าโพนทอง ไปประมาณ 750 เมตร มีทางแยกขวามือเลี้ยวเข้าไปอีกประมาณ 500 เมตร ถึงวัดกู่แก้วสามัคคี
รถประจำทาง ขึ้นรถสายขอนแก่น-มัญจาคีรี ลงรถที่บ้านเหล่านาดี แล้วต่อมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

อ้างอิง

นงลักษณ์ สุวรรณพรรณ. 2557. กู่แก้ว. สืบค้นเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562. จาก http://woodychannel.com/gou-keaw.html

พุทธศิลป์อีสาน. 2558. ปรางค์กู่แก้วจังหวัดขอนแก่น. สืบค้นเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2562. จาก http://isan.tiewrussia.com/khom/

สำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น. (มปก.). กู่แก้ว บ้านหัวสระ ตำบลดอนช้าง อำเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2562. จาก https://www.blogger.com/blogger.g

TrendyNews : ชีวิตเทรนด์. 2560. กู่แก้ว บ้านหัวสระ ตำบลดอนช้าง อำเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น. สืบค้นเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562. จาก https://www.ntbdays.com/trendynews/archives/10700















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น