วันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2561

3 เสาหลักแห่งอาเซียน (Three pillars of ASEAN)

ที่มา: https://kullanit.wordpress.com/
ประชาคมอาเซียนถือว่าเป็นประชาคมระดับภูมิภาคที่น่าจับตามองในปัจจุบันซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคที่โดดเด่นและมีความหลากหลายอีกแห่งหนึ่งไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประเทศเกษตรกรรมอันอุดมสมบูรณ์ไปด้วยธรรมชาติ เป็นกลุ่มประเทศที่มีหลายเชื้อชาติและเป็นกลุ่มประเทศคู่ค้าขนาดใหญ่ที่สามารถต่อรองทางด้านการค้าด้านเศรษฐกิจ รวมถึงด้านความมั่นคงกับกลุ่มประเทศมหาอำนาจโลกจนปัจจุบัน

เรียบเรียงโดย กฤษดา โศกดุล
ประชาคมอาเซียนซึ่งประกอบไปด้วย 10 ประเทศที่มีศักยภาพเป็นอย่างมากในการแข่งขันหรือต่อรองในด้านต่างๆ กับนานาประเทศ นับเป็นระยะ 51 ปีมานี้ที่อาเซียนได้กำเนิดขึ้น ซึ่งได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน ทั้งในด้านความมั่นคง และความแข็งแกร่ง ซึ่งผลเหล่านี้เกิดจากปัจจัยที่สำคัญของประชาคม ที่ได้จัดตั้งขึ้นมานั่นคือ 3 เสาหลักอาเซียนซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ประชาคมอาเซียนมีความแข็งแกร่ง มั่นคง และเป็นอันหนึ่งอันเดียว

ในปี พ.ศ.2546 จากการตกลงของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ณ เกาะบาหลี ซึ่งได้ตกลงร่วมกันที่จะก็ตั้งเป้าหมายแห่งการพัฒนาองค์กรขึ้นมา จากการที่มีวิสัยทัศน์ขององค์กรที่ก้าวไกลสามารถที่จะเห็นปัญหาหรือผลประโยชน์อื่นๆ ที่ทำให้ประชาคมมีความมั่นคงและก้าวหน้า จึงได้มีการตกลง ให้มีการจัดตั้งประชาคมอาเซียน และได้แบ่งออกเป็น 3 ประชาคมย่อย นั่นคือ 3 เสาหลักอาเซียน ซึ่งทั้ง 10 ประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียนได้ก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ.2558 ที่ผ่านมา


3 เสาหลักของอาเซียน 

1.ประชาคมการเมืองความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community หรือ APSC) ความมั่นคงถือเป็นปัจจัยสำคัญและเป็นเสถียรภาพในการพัฒนาด้านอื่นหรือเป็นหัวใจสำคัญขององค์กรโดยเน้นการรวมตัวกัน เพื่อสร้างเสถียรภาพทางด้านความมั่นคงทางการเมืองและทำให้สันติภาพเกิดขึ้นในภูมิภาคเพื่อให้ประชากรในอาเซียนซึ่งมีประมาณ567 ล้านคนดำรงชีวิตอย่างสันติสุขโดยปราศจากจากภัยคุกคามต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการคุกคามทางด้านทหารจากประเทศมหาอำนาจ หรือจากภัยในรูปแบบใหม่ๆเช่นยาเสพติด การก่อการร้าย การก่ออาชญากรรมข้ามชาติ และยังส่งเสริมให้อาเซียนมีปฏิสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับนานาประเทศ

2. ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community หรือ AEC) ท่ามกลางบริบททางเศรษฐกิจ ที่การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศมีการแข่งขันที่สูงขึ้น จึงทำให้แต่ละประเทศมีการปรับตัวรวมตัวเพื่อที่จะเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นในช่วงที่มีการแข่งขันสูงทางด้านการค้าและการลงทุน โดยอาเซียนมุ่งหวังให้อาเซียนเป็นตลาดเดียวและเป็นฐานการผลิตร่วมกันมุ่งให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุน สินค้า การบริการ การลงทุน แรงงานฝีมือระหว่างประเทศสมาชิกโดยเสรี และมีการช่วยเหลือกลุ่มประเทศ CLMV เพื่อลดช่องว่างของการพัฒนาของประเทศสมาชิกอาเซียน และส่งเสริมให้เข้าร่วมกระบวนการทางเศรษฐกิจของอาเซียน และให้เข้าประชาคมโลกเพื่อที่จะให้อาเซียนมีศักยภาพที่แข็งแกร่งสามารถต่อรองกับนานาประเทศได้

3. ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community หรือASCC)โดย มีเป้าหมายให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง สังคมที่เอื้ออาทรและแบ่งปัน ประชากรอาเซียนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีและมีการพัฒนาในทุกด้านเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมอัตลักษณ์ของอาเซียน โดยมี แผนปฏิบัติการด้านสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ระบุอยู่ในแผนปฏิบัติการเวียงจันทน์ ซึ่งประกอบด้วย ความร่วมมือใน 6 ด้าน ได้แก่
3.1 การพัฒนามนุษย์ (Human Development)
3.2 การคุ้มครองและสวัสดิการสังคม (Social Welfare and Protection)
3.3 สิทธิและความยุติธรรมทางสังคม (Social Justice and Rights)
3.4 ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability)
3.5 การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน (Building and ASEAN Identity)
3.6 การลดช่องว่างทางการพัฒนา (Narrowing the Development Gap)
จะเห็นได้ว่าองค์กรอาเซียนได้วางแบบแผนที่จะพัฒนาประชาคมอาเซียนให้แข็งแกร่ง เพื่อจะมีศักยภาพในการต่อรองกับนานาประเทศได้ โดยได้กำหนดหลักการเพื่อที่จะก้าวเดินไปพร้อมกันและในทางเดียวกันจนไปถึงจุดมุ่งหมาย ซึ่งจะเห็นได้ว่าองค์กรมีวิสัยทัศน์อย่างกว้างไกลที่มองเห็นปัญหาอุปสรรคและผลประโยชน์ของ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต จึงได้กำเนิด 3 เสาหลักอาเซียนขึ้น เพื่อให้คอบครอบคลุมกับผลที่ตั้งไว้ และให้กลุ่มประเทศสมาชิกได้ปฎิบัติตามหลักการและได้ก้าวเดินไปสู่เส้นทางแห่งความสำเร็จอย่างพร้อมกันโดยจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

อ้างอิง

3เสาหลักของประชาคมอาเซียนและความสำคัญ:2016.การพัฒนาองค์กรการค้าสูความร่วมมืออาเซียน.สืบค้นเมื่อ 7 สิงหาคม2561, จาก: http://www.stakeholderalliance.org/

3 เสาหลักอาเซียน คืออะไร มีอะไรบ้าง.(มปป).เกร็ดความรู้.net(ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 7 สิงหาคม2561, จาก: https://www.xn--12cg1cxchd0a2gzc1c5d5a.net/

3เสาหลักอาเซียน.(มปป).AMAZING ASEAN(ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 7 สิงหาคม2561, จาก: https://kullanit.wordpress.com/3-

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น