“One Vision, One Identity, One Community” “หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งเอกลักษณ์ หนึ่งประชาคม ” ที่มา: https://kullanit.wordpress.com/ |
เรียบเรียงโดย ชนภัทร ไชยเม็ง
โดยการก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีเอกสารการก่อตั้งที่ถือว่าเป็นเอกสารที่สำคัญและเป็นหลักฐานที่สำคัญของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลยก็ว่าได้ นั่นคือ ปฏิญญากรุงเทพฯ หรือ ปฏิญญาอาเซียน และเนื่องในโอกาสแห่งการครบรอบ 51 ปี การก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 8 สิงหาคม 2561 ทางชุมนุมอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้นำรายละเอียดสาระสำคัญของปฏิญญากรุงเทพฯ มาเผยแพร่อีกครั้งหนึ่ง
ที่มา: https://sites.google.com/
ภาพการลงนามในปฏิญญากรุงเทพ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2561
โดยผู้แทนทั้ง 5 ประเทศ ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ปฏิญญากรุงเทพฯ (Bangkok Declaration) หรือ ปฏิญญาอาเซียน (ASEAN Declaration) เป็นเอกสารในการก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการส่งเสริมความร่วมมือกัน เพิ่มอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม การพัฒนาวัฒนธรรม เปิดโอกาสให้คลายข้อพิพาทระหว่างประเทศสมาชิกอย่างสันติ และการธำรงรักษาสันติภาพและความมั่นคง โดยในเนื้อหาของปฏิญญากรุงเทพฯ (Bangkok Declaration) นั้นมีเนื้อหาที่สำคัญดังนี้
1. พัฒนาความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางสังคม และการพัฒนาในทางวัฒนธรรม อันเกิดมาจากความร่วมมือ และความพยายามร่วมกัน เพื่อให้เกิดรากฐานที่เข้มแข็งอันจะนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองและ เพื่อให้เกิดสันติภาพแก่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
2. ส่งเสริมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อให้เกิดสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคง ภายใต้หลักนิติธรรมและความยุติธรรม อันก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่าง ๆในภูมิภาค รวมถึงการยึดมั่นตามกฎบัตรสหประชาชาติ
3. ส่งเสริมความร่วมมือ และการให้ความช่วยเหลือร่วมกัน ทั้งในด้าน เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม วิชาการ วิทยาศาสตร์ และการบริหารจัดการ
4. ส่งเสริมให้มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในการอำนวยความสะดวกต่อต่อค้นคว้า และวิจัย ทั้งในด้านของการศึกษา อาชีพ วิชาการ และการบริหารจัดการ
5. ให้มีการร่วมมือกันอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งทางด้าน เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การขยายตัวทางการค้า รวมถึงศึกษาปัญหาเกี่ยวกับ การซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ การปรับปรุงการขนส่งสินค้า ในการให้ความสะดวกในเรื่องของการติดต่อสื่อสาร และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน
6. ส่งเสริมวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา
7. เสริมสร้างความร่วมมือ ประสานประโยชน์และความใกล้ชิดองค์กรต่าง ๆ ที่มีจุดประสงค์และเป้าหมายคล้ายคลึงกันทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับนานาชาติ
สาระสำคัญของปฏิญญากรุงเทพฯ ทั้ง 7 ข้อนี้จะเห็นได้ว่า ทั้ง 5 ประเทศผู้ร่วมลงนามจัดตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีเป้าหมายและวัตถุประสงค์ในทิศทางเดียวกัน คือ การร่วมกันพัฒนา ส่งเสริม สนับสนุนและช่วยเหลือกันในทุก ๆ ด้าน เช่น การช่วยเหลือส่งเสริมด้านเศรษฐกิจเพื่อให้ชาติสมาชิกมีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและทัดเทียมกัน การพัฒนาด้านสังคมและสันติภาพ เพื่อให้ประชาชนในชาติสมาชิกมีสันติภาพและเสรีภาพที่เท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ช่วยเหลือประเทศที่ประสบปัญหา การร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์และการแพทย์ ซึ่งช่วยให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นเป็นภูมิภาคชั้นนำและก้าวขึ้นมามีอำนาจในเวทีโลก ดังนั้นจึงแสดงให้เห็นว่า ปฏิญญากรุงเทพทั้ง 7 ข้อ นั้นช่วยยกระดับและเสริมสร้างความแข็งแกร่งในภูมิภาคนี้แอย่างแท้จริง
ในปัจจุบัน สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ไทย บรูไน พม่า ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย โดยในปัจจุบันนั้นปฏิญญากรุงเทพฯ นั้นได้กลายเป็นแม่แบบหรือโครงสร้างสำคัญในการพัฒนาภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ประชาคมอาเซียน ประชาคมอาเซียนถือว่าเป็นการยกระดับการพัฒนาผ่านโครงสร้างหลักสามโครงสร้าง คือ
ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ( ASEAN Security Community – ASC ) เพื่อส่งเสริมให้ประเทศในภูมิภาคมีเสถียรภาพทางการเมืองและพร้อมรับมือกับภัยคุกคามความมั่นคงรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัย มั่นคง และประเทสชาติมีเสถียรภาพ
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ( ASEAN Economic Community – AEC ) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการรวมตัวทางเศรษฐกิจ อำนวยความสะดวกในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้ภูมิภาคมีความเจริญทางเศรษฐกิจ มีขีดความสามรถในการแข่งขันและต่อรองทางเศรษฐกิจ
ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ( ASEAN Socio-Cultural Community – ASCC ) เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนแต่ละประเทศอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมที่เหมาะสมและมีความมั่นคง ปลอดภัย และพร้อมปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง สร้างระบบการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ แก่สังคม
จะเห็นได้ว่า ปฏิญญากรุงเทพอันเป็นจุดเริ่มต้นของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นเป็นภูมิภาคที่มั่นคง มีการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจที่เจริญเติบโตและเข้มแข็ง การพัฒนาเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์และการแพทย์ที่ก้าวหน้า โครงสร้างทางสังคมหรือประชากรพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง และการพร้อมต่อการเผชิญสิ่งใหม่ ๆ และท้าทาย และการทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้กลายเป็นภูมิภาคที่น่าจับตามองและทำให้สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นองค์กรที่มีบทบาทในเวทีโลกไม่แพ้ชาติมหาอำนาจอื่น ซึ่งความสำเร็จเหล่านี้เป็นผลมาจากการร่วมมือในการพัฒนาของ 5 ประเทศจนเกิดเป็นปฏิญญากรุงเทพฯ จุดเริ่มต้นของอาเซียน
อ้างอิง
ประชาคมอาเซียน (ASEAN COMMUNITY) : สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง : 2555 : สืบค้นเมื่อ 6 สิงหาคม 2561, จาก: http://www.lib.ru.ac.th/journal2/?p=3290
ปฏิญญากรุงเทพ : 2559 : พัชร์ นิยมศิลป. สืบค้นเมื่อ 6 สิงหาคม 2561, จาก: http://wiki.kpi.ac.th/index.php?
ปฏิญญากรุงเทพ : 2558 : กรมอาเซียน สืบค้นเมื่อ 6 สิงหาคม 2561, จาก: http://www.mfa.go.th/asean/th/other/2397
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น