วันพุธที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ความสำคัญของ ASEAN

ที่มา: https://www.dreamstime.com/
นับตั้งแต่มีการลงนามปฏิญญากรุงเทพในวันที่ 8 สิงหาคม 2510 อาเซียนเป็นองค์กรได้จัดตั้งขึ้นเพื่อแสวงความร่วมมือระหว่างประเทศในอาเซียนเริ่มต้นจากสมาชิก 5 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ และมีสมาชิกใหม่เพิ่มอีก 5 ประเทศ คือ บรูไน ลาว เวียดนาม เมียนมาร์ และเวียดนาม กว่า 50 ปีที่ผ่านมาได้มีพัฒนาการความร่วมมือต่างๆมากมาย แต่ก็ผ่านปัญหาอุปสรรคต่างๆไม่น้อย เช่นปัญหาคอมมิวนิสต์ สงคราม และวิกฤตเศรษฐกิจในภูมิภาค

เรียบเรียงโดย พิชชาพร มงคลวงศ์โรจน์



องค์กรอาเซียนมีวิวัฒนาการและได้ปรับบทบาทให้มีความเข้มแข็งและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและภูมิภาค โดยมีผลงานที่สำคัญและจะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาภูมิภาคนี้ต่อไปในอนาคตคือ การจัดตั้งประชาคมอาเซียนขึ้นสำเร็จและเข้าสู่ประชาคมในปี 2558 โดยมี 3 เสาหลัก คือ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน และประชาคมการเมืองและมั่นคงอาเซียน

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนับเป็นเสาหลักที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกและภูมิภาค โดยมีจํานวนประชากรเพิ่มจาก 185 ล้านคน เป็น 634 ล้านคน และมีการขยายการค้าขายเพิ่มจาก 10,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ เป็น 2,219,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ รายได้เฉลี่ย ต่อคนต่อปี (GDP per capita) เพิ่มจาก 122 ดอลล่าร์สหรัฐ เป็น 4,021 ดอลล่าร์สหรัฐ (รูปที่ 1) ประกอบกับนโยบายเปิดการค้าเสรีและลดกำแพงภาษีสินค้าต่างๆ ทำให้การส่งออกสินค้าในระหว่างประเทศอาเซียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเพิ่มจาก 16.5% ในปี 2538 เป็น 22.2% ในปี 2559


รูปที่ 1 พัฒนาการที่สำคัญทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาคมอาเซียน
ที่มา: https://www.aseanstats.org/

ส่วนด้านประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน พบว่าประชากรในอาเซียนมีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่ม จาก 56 ปีในปี 2531 เป็น 71 ปีในปี 2559 นอกจากนี้ ดัชนีความยากจน ได้ลดลงจาก 47% ในปี 2533 เหลือเพียง 14% ในปี 2558 มีประชากรที่อยู่ในภาวะทุพโภชนาลดลงจาก 30.4% ในปี 2534 เป็น 8.9% ในปี 2559 ตามลำดับ

สำหรับประชาคมการเมืองและมั่นคงอาเซียนได้ขยายความเชื่อมโยงและความร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้ายสากลและการค้ามนุษย์ ตลอดจนรักษาความสงบและความมั่นคงในแนวชายแดน

ถึงแม้ว่าปัจจุบันภูมิภาคอาเซียนเป็นตัวจักรที่สำคัญหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก แต่อาเซียนคงต้องค้นหาและพัฒนายุทธศาสตร์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงของประเทศสมาชิกและภูมิภาคต่อไป การจัดทำเป้าหมาย แผนและยุทธศาสตร์เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาในปี 2568 (ASEAN Blueprint 2025) เพื่อใช้เป็นแนวทางในการติดตามและสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของประชาคมและประเทศสมาชิกก้าวสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

อ้างอิง

ยอดชาย วิถีพานิช:2561. 50 ปี กับ 10 ชาติอาเซียน : เรามาไกลกันแค่ไหนแล้ว สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สืบค้นเมื่อวันที่  6 สิงหาคม 2561, จาก http://www.parliament.go.th/library

The ASEAN Secretariat: 2017. ASEAN ANNUAL REPORT 2016 – 2017: Partnering for Change, Engaging the World.

The ASEAN Secretariat: 2017. Celebrating ASEAN: 50 years of evolution and progress. A statistical publication.

United Nations Conference on Trade and Development (UNCTAD): 2017. ASEAN at 50: Achievements and challenges in regional intergration.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น