วันอังคารที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2561

พระราชพิธีแห่งข้าว “แรกนาขวัญ”

ที่มา: https://instagramcenter.blogspot.com/
ข้าว เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผู้คนทั่วโลกมีความผูกพันกับข้าวเป็นมาอย่างช้านานด้วยเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงทุกชีวิตให้เติบใหญ่และยังสร้างรายได้ให้กับครอบครับและประเทศชาติ จึงก่อให้เกิดขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีปฏิบัติอันงดงาม สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นทั้งมีการปรับเปลี่ยนและผสมผสานให้เกิดความงดงามยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ "พระราชพิธีแรกนาขวัญ" ซึ่งเป็นพิธีที่มีความสำคัญยิ่งสำหรับสังคมเกษตรกรรมตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน รวมทั้งมีความหลากหลายแตกต่างและมีเอกลักษณ์ของตนในแต่ละพื้นที่  เพื่อเป็นการตระหนักถึงความสำคัญภาคการเกษตรกรรม เพื่อสืบสานและธำรงรักษาประเพณีดีงามนี้สืบทอดไว้เป็นมรดกของแผ่นดิน ผู้เขียนจึงขอนำเรื่องราวเกี่ยวกับ ประเพณีแรกนาขวัญ มานำเสนอในที่นี้

เรียบเรียงโดย  เจษฎา รักษาภักดี

ความเป็นมา

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญที่จีน
ที่มา: http://e-shann.com/?p=11614%201
การไถนาเป็นวิถีแห่งการเกษตรมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่มนุษย์เริ่มตั้งถิ่นฐานและทำการเพาะปลูก การเตรียมดินและการหว่านเมล็ดพืชลงดินถือเป็นการเริ่มต้นของความเจริญงอกงาม ซึ่งการนำวิถีปฏิบัติผสมกับความเชื่อทางศาสนาก่อให้เกิดพิธีกรรมที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก พระราชพิธีแรกนาขวัญมีต้นกำเนิดในหลายๆ วัฒนธรรมไม่ว่าจะเป็นเมืองจีนเมื่อสี่พันปีล่วงมาแล้ว พระเจ้าแผ่นดินจะทรงลงไถนาเองเป็นคราวแรกและพระมเหสีทรงเลี้ยงตัวไหม

และวรรณกรรมเรื่องรามยณะ “พระชนกฤษี กษัตริย์แห่งกรุงมิถิลา ได้ประกอบพิธีแรกนาขวัญ และทรงไถนาได้กุมารีนางหนึ่งซึ่งถือกำเนิดอยู่ในผืนดินที่พระองค์ประกอบพิธีอยู่ พระองค์ได้รับเลี้ยงกุมารีนั้นด้วยความดีพระทัยอย่างยิ่ง และทรงขนานนามเด็กหญิงนั้นว่า "สีดา" อันมีความหมายว่ารอยไถ”

หรือแม้กระทั่งในพุทธประวัติ ครั้นเมื่อนักขัตฤกษ์วัปปะมงคลพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระเจ้าสุทโธททรงประกอบพระราชพิธีแรกนาขวัญ ครั้งนั้นเจ้าชายสิทธัตถะ มีพระชนมายุได้ 8 พรรษา ได้เสด็จในพระราชพิธีนั้นด้วย เจ้าชายสิทธัตถะทรงประทับอยู่ที่พระราชอาสน์ ณ บริเวณต้นหว้าใหญ่ ซึ่งข้าราชบริพารจัดถวาย

ความสำคัญ

พิธีแรกนาขวัญเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า บัดนี้ฤดูกาลแห่งการทำนาและเพาะปลูกได้เริ่มขึ้นแล้ว และเป็นการเสริมสร้างความเป็นสิริมงคลแก่การเกษตรกรรม รวมถึงการสร้างขวัญและกำลังใจแก่เกษตรกรประหนึ่งกระดูกสันหลังของชาติ อีกทั้งการให้ความสำคัญกับการเกษตรซึ่งเป็นสิ่งที่คอยหล่อเลี้ยงทุกสรรพชีวิตให้เติบโตและสมบรูณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งพิธีแรกนาขวัญนี้ได้กระจายเข้ามายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างแพร่หลายและได้มีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับวัฒนธรรมของตนเอง ในที่นี้จะยกตัวอย่างให้เห็นถึงพิธีแรกนาขวัญทั้งในประเทศไทยและประเทศกัมพูชา

ที่มา: https://truststoreonline.com/

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประเทศไทย

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
พระราชพิธีพืชมงคล (วันที่หนึ่ง)

พระราชพิธีพืชมงคลเป็นพิธีทำขวัญพืชพันธุ์ธัญญาหาร เป็นพระราชพิธีทางสงฆ์โดยจะประกอบพระราชพิธีในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอธิษฐานเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งข้าวที่นำเข้าพิธีพืชมงคลนั้นเป็นข้าวเปลือก มีทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว นอกจากนี้มีเมล็ดพืชต่าง ๆ รวม 40 อย่าง รวมทั้งข้าวเปลือกที่หว่านในพิธีแรกนา บรรจุกระเช้าทองคู่หนึ่งและเงินคู่หนึ่ง

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (วันที่สอง)

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีพราหมณ์ ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีในวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลพิธีสนามหลวง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเป็นองค์ประธานในพระราชพิธี พระยาแรกนาถวายสักการะเทวรูปสำคัญในโรงพิธีพราหมณ์ แล้วจะได้ตั้งสัตยาธิษฐาน หยิบผ้านุ่งแต่งกาย 3 ผืน ที่มีความยาวต่างขนาดกัน เพื่อเป็นการทำนาย ปริมาณน้ำฝน เมื่อถึงฤกษ์พิธีไถหว่าน  พระยาแรกนาเจิมพระโคเป็นวัวเพศผู้สีขาวพันธุ์ขาวลำพูนมีลักษณะตามตำราโบราณ 1 คู่ และเจิมคันไถ จากนั้น พระยาแรกนาก็จะไถลงไปบนพื้นที่ท้องสนามหลวง ตามขบวนด้วยเทพีทั้ง 4 ผู้ซึ่งหาบกระเช้าทองและกระเช้าเงินที่บรรจุด้วยเมล็ดข้าวเปลือก นอกจากนี้ก็มีคณะพราหมณ์เดินคู่ไปกับขบวนพร้อมทั้งสวดและเป่าสังข์ไปพร้อมกัน โดยไถดะเวียนทักษิณาวรรต 3 รอบ ไถแปร 3 รอบ พร้อมหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว พนักงานประโคมฆ้องชัยเครื่องดุริยางค์ แล้วไถกลบอีก 3 รอบ เพื่อกลบเมล็ดพันธุ์ข้าวลงในดิน เสร็จแล้วพนักงานปลดพระโคออกจากแอก พราหมณ์เสี่ยงทายของกิน 7 สิ่ง ตั้งเลี้ยงพระโค ได้แก่ เมล็ดข้าว ถั่ว ข้าวโพด หญ้าเมล็ดงา น้ำ และเหล้า ไม่ว่าพระโคจะเลือกกินหรือดื่มสิ่งใด ก็ทายว่าปีนี้จะอุดมสมบูรณ์ด้วยสิ่งที่พระโคเลือกนั้น

พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประเทศกัมพูชา

ที่มา: https://news.mthai.com/
เป็นพระราชพิธีอย่างหนึ่งในพระราชพิธีทวาทศมาส มีขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม โดยทั่วไปจะจัดขึ้นบนลานพระเมรุ ทางทิศเหนือของพระบรมราชวังจตุมุขสิริมงคล หรือ พระท้องนาที่ใดที่หนึ่ง ในบางปีจะจัดขึ้นในจังหวัดเสียมราฐ พระมหากษัตริย์เสด็จเป็นองค์ประธาน บางครั้งจะทรงเป็นพระยาแรกนาและมอบหมายให้แก่ผู้แทนพระองค์

พระยาแรกนาขวัญ มีชื่อเรียกว่า สะดัจเมียก มีบริวารเป็นผู้เชิญเครื่องสูงจำนวน 12 คน ตามด้วยขบวนมเหสี เรียกว่า ภริยาพระเมฮัว โดยจะมีพระโค 3 คู่

พระโคคู่ที่ 1 เรียกว่า โคพฤษภราช เป็นวัวเพศผู้ใช้สำหรับประกอบพิธีจรดพระนังคัล  มีลักษณะสีดำ เขาโค้งงอไปข้างหน้า แล้วปลายแหลมชี้ไปข้างบนเล็กน้อย เทียมแอกคันไถมีลักษณะรูปทรงเป็นพญานาค ทาสีสอง ประดับพู่ขนสัตว์ที่คอของพญานาค

พระโคอีก 2 คู่ ใช่ในขบวนแห่ วัวมีลักษณะสีแดง  เทียมแอกคันไถมีลักษณะสีดำ มีเส้นสีแดงตัดในแนวนอนเป็นช่วงๆ

โดย 1 คู่นำหน้า โคพฤษภราช และอีก 1 คู่ตามหลัง    สะดัจเมียก ทำหน้าที่ไถ ซึ่งจะไถทั้งหมด 3 รอบ  ส่วน พระเมฮัว จะทำหน้าที่หว่านเมล็ดพันธุ์ตามหลัง หลังจากไถเสร็จจะเป็นพิธีเสี่ยงทายด้วยโคพฤษภราชด้วยอาหาร 7 อย่าง ประกอบด้วย ข้าวสาร ข้าวโพด ถั่ว หญ้า งา เหล้า และน้ำ ให้แพระโคเลือกกิน หากพระโคเลือกกินอาหารชนิดใดพยากรณ์ว่าสิ่งนั้นจะบริบูรณ์ดี  หากพระโคเลือกกินข้าว ข้าวโพด ถั่ว และงา พยากรณ์ได้ว่าการเก็บเกี่ยวและผลผลิตจะยิ่งดีมาก   หากพระโคกินหญ้าพยากรณ์ถึงความเจ็บป่วย เกิดโรคระบาด หากเสวยน้ำพยากรณ์ถึงเหตุน้ำท่วม และหากเสวยเหล้าพยากรณ์ว่ามีลางของสงครามหรืออาจเกิดอาชญากรรม ความไม่สงบ เป็นต้น


พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพระราชพิธีที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของเกษตรกรรมอันเป็นสิ่งที่มีความสำคัญค่อยหล่อเลี้ยงทุกสรรพชีวิต ซึ่งแสดงผ่านพิธีกรรมที่สั่งสมและส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ผ่านกาลเวลาและการปรับเปลี่ยนไปตามสภาพแต่ยังคงไว้ซึ่งความสำคัญและความหมายอันลึกซึ้งและยังเป็นสิ่งที่มีคุณค่าซึ่งผสมผสานความเชื่อและวิถีปฏิบัติกันอย่าลงตัวและงดงาม ตลอดจนความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งช่วยจรรโลงประเพณีวัฒนธรรมอันงดงามในราชสำนักให้คงอยู่ตลอดมาและยังสื่อให้เป็นถึงความเป็นสังคมเกษตรกรรมซึ่งเป็นเศรษฐกิจหลักของประเทศชาติ สร้างรายได้และความเป็นอยู่ของประชาชน โดยพระราชพิธีแรกนาขวัญเป็นดั่งสัญญาณและสัญญาให้ความเชื่อมั่นแก่เกษตรกรผู้เป็นกระดูกสันหลังของชาติ เสริมสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ให้แก่ประเทศชาติ รวมทั้งเป็นการแสดงเอกลักษณ์อันงดงามของประเทศที่ถ่ายทอดทางวัฒนธรรมประเพณีที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์ขึ้นให้เป็นมรดกของแผ่นดินและของมวลมนุษย์


อ้างอิง

วิกิพีเดีย.(2561).แรกนาขวัญ.สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม 2561, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/แรกนาขวัญ

สำนักศาลยุติธรรม.(ม.ป.ป.).วันพืชมงคล.สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม 2561, จาก https://www.coj.go.th/

ฐานข้อมูลสังคม – วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.(2559).กัมพูชา – ประเพณีพิธีกรรม.สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม 2561, จาก http://www.sac.or.th/

วิกิพีเดีย.(2561).รามายณะ.วันพืชมงคล.สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม 2561, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/รามายณะ

Mettadham.(ม.ป.ป.).พุทธประวัติ.สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม 2561, จาก http://www.mettadham.ca/life%20of%20the%20buddha_1.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น